กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.)มีสองกองทุนคุ้มครอง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้แก่ กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีกองทุนประกันสังคม ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ในสถานประกอบการ ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปโดยส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างโดยคำนวณจากค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบ เดือนละ 83 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาท
โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง ใน 7กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ และ ตาย ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้ง คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ส่วนลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายจากการทำงานนั้นสำนักงานประกันสังคมมีกองทุนเงินทดแทนให้ความคุ้มครองอยู่ โดยนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เงินสมทบจะคิดจากค่าจ้าง ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกันคูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้น ซึ่งจะจ่ายในอัตราที่ไม่เท่ากัน ระหว่างอัตราร้อยละ 0.2-1.0 ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยตามลักษณะและประเภทกิจการ ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปี ติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสียเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบให้นายจ้าง ซึ่งหากนายจ้าง จัดให้มีความปลอดภัยในการทำงานที่ดี ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานน้อย ก็จะได้ลด “อัตราค่าประสบการณ์” ได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของอัตราเงินสมทบหลัก
เงินสมทบที่จัดเก็บนี้ จะนำมาจ่ายเป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งมีผลทำให้ต้องหยุดงานสูญเสียอวัยวะบางส่วนทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือ สูญหาย โดยลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนการขาดรายได้ ค่าทำศพ หรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ทั้งนี้ ลูกจ้างมีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการ 2 แห่ง คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจังหวัดปทุมธานี และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก จังหวัดระยอง
ปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม 50 สปส.ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนกว่า 9.09 ล้านคน และมีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้ว จำนวน 379,348 แห่ง หากผู้ประกันตนต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์หรือไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 และดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit