กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--สกธ.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานกิจการยุติธรรมได้ริเริ่มและดำเนินโครงการเยาวชนพลยุติธรรมขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น “โครงการเยาวชนพลยุติธรรม เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระชนมพรรษา 80 พรรษา” โดยสนับสนุนและส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เกี่ยวกับระบบการเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาจำนวน 82 แห่งจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 1 แสนคน รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบ
ในการดำเนินโครงการดังกล่าว สกธ.ได้ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนที่มีรูปแบบการจัดกิจกรรมตามเป้าหมายของโครงการ โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมโรงเรียนละ 5,000 บาท จากนั้นมีการนิเทศ ติดตามผลการดำเนินกิจกรรม และให้ข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ต่างมีความกระตือรือร้นในการนำความรู้ได้รับความรู้เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไปจัดกิจกรรมรวมทั้งผลิตสื่อรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ทั้งในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบอย่างหลากหลาย
ตัวอย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ โครงการห้องสมุดยุติธรรม โครงการเยาวชนพลยุติธรรม เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 80 โครงการโรงเรียนยุติธรรมสมานฉันท์ ฯลฯ โดยแต่ละโรงเรียนก็มีการทำกิจกรรมย่อย ๆ เช่น โครงการ “ศาลโรงเรียน” ของโรงเรียนวัดประเจียก ซึ่งเป็นในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่ชนะเลิศการประกวดระดับภูมิภาค กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ศาลโรงเรียน” คือ กิจกรรมกฎหมายโรงเรียน กิจกรรมยุติความรุนแรง กิจกรรมประเมินตนเอง กิจกรรมต่อต้านยาเสพติด กิจกรรมลงประชามติ กิจกรรมของหายได้คืน กิจกรรมสภานักเรียน กิจกรรมสหกรณ์ กิจกรรมเครือข่ายยุติธรรม กิจกรรมฟังความหลายข้าง กิจกรรมศึกษาดูงาน กิจกรรมยุติธรรมยาตรา กิจกรรมแสดงละคร หนังตะลุง มโนราห์ เกี่ยวกับกฎหมาย กิจกรรมเรียนรู้กระบวนการยุติธรรมจากคุณตำรวจ กิจกรรมตอบคำถามกฎหมาย กิจกรรมเขียนความจริง กิจกรรมนิทรรศการเคลื่อนที่ กิจกรรมคนต้นเรื่อง กิจกรรมรู้เห็นเป็นใจ กิจกรรมอ่านรัฐธรรมนูญให้น้องฟัง กิจกรรมคืนคนดีสู่สังคม เป็นต้น ทั้งนี้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่แต่ละแห่งก็มีการคิดกิจกรรมที่แตกต่างไปตามบริบท โดยเน้นเนื้อหาหลักที่การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเรื่องใกล้ตัว
รวมทั้งมีการคิดรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น การจำลองเหตุการณ์การทะเลาะวิวาทจากความเข้าใจผิดระหว่างนักเรียนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและได้นำเข้าสู่สภาสมานฉันท์เพื่อไกล่เกลี่ย การแสดงบทบาทสมมติสาระเรื่องเกี่ยวกับความผิดข้อหาวิ่งราวทรัพย์ของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี และแสดงขึ้นตอนกระบวนการยุติธรรมจำลองที่ได้ความรู้จากหนังสืออ่านเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน การแสดงบทบาทสมมติสาระเรื่องเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎจราจร มีการติดสินบนตำรวจจราจร แต่ตำรวจผู้นั้นมีความเข้าใจผิดระหว่างนักเรียนที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนและได้นำเข้าสู่สภาสมานฉันท์เพื่อไกล่เกลี่ย เป็นต้น
แสดงให้เห็นถึงการเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตสำนึก และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม โดยผ่านการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่นักเรียนและครูช่วยกันพัฒนาขึ้น เป็นการสร้างสรรค์ระบบการเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมรูปแบบใหม่ ที่นักเรียนมีบทบาทหลักในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม กฎหมายพื้นฐานในชีวิตประจำวัน โดยเด็กก็จะได้ความรู้กฎหมายติดตัวไปใช้ในการดำเนินชีวิตเมื่อเขาเติบโตขึ้น และดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ภายใต้กรอบสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะที่ครูและโรงเรียนก็ได้รูปแบบกิจกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดกับเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย
ผู้อำนวยการ สกธ.กล่าวว่า โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนโครงการเพาะเมล็ดพันธุ์ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรมลงไปในใจเด็ก สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องการสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม ป้องกันปัญหาอาชญากรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนอันมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอย่างรอบด้าน และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมในสายตาประชาชนให้ดีขึ้น
ดังนั้นเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการเยาวชนพลยุติธรรมฯ สำนักงานกิจการยุติธรรมจึงจัดให้มีกิจกรรมการประกวดระดับประเทศขึ้นใน วันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2550 เวลา 10.00-17.00 น. ณ MCC Hall ชั้น 4 เดอะมอลล์งามวงศ์วาน โดยให้โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาค 15 โรงเรียนมานำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์ในโครงการเยาวชนพลยุติธรรมเพื่อหาผู้ชนะเลิศในแต่ละช่วงชั้นในการประกวดระดับประเทศ และมีการมอบเกียรติบัตรโรงเรียนต้นแบบการสร้างจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีด้านความยุติธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตแก่โรงเรียนที่ผ่านการประเมิน โดยทางสำนักงานกิจการยุติธรรมมีแผนที่จะพัฒนารูปแบบของโครงการเพื่อบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
ทั้งนี้ 15 โรงเรียนที่จะมานำเสนอกิจกรรมโครงการเยาวชนพลยุติธรรมฯในการประกวดระดับประเทศประกอบด้วย ช่วงชั้นที่ 2 ป.4-ป.6 ได้แก่ โรงเรียนสามัคคีบำรุงวิทยา กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, โรงเรียนวัดประเจียก จังหวัดสงขลา , โรงเรียนศูนย์รวมบ้านกอสะเลียม จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนบ้านน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงชั้นที่ 3 ม.1-ม.3 ได้แก่ โรงเรียนสุเหร่าสมอเซ จังหวัดฉะเชิงเทรา,โรงเรียนวิทยาประชาคม จังหวัดกระบี่, โรงเรียนพิมานวิทย์นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนสามเงาวิทยาคม จังหวัดตาก, โรงเรียนหนองขอนวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงชั้นที่ 4 ม.4-ม.6 ได้แก่ โรงเรียนปราโมชวิทยารามอินทรา กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนกะทู้วิทยา จังหวัดภูเก็ต,โรงเรียนส่องแสงพณิชยการ จังหวัดสงขลา, โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนโพธิ์ธาตุประชาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ
โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ และการแสดงบนเวทีที่สามารถนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม ที่ชัดเจน เหมาะสมกับวัยของโรงเรียนต่าง ๆ สำนักงานกิจการยุติธรรม จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ประชาชนและผู้สนใจ เข้าร่วมชมงานได้ฟรีในวันและเวลาดังกล่าว.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit