กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
วิเคราะห์ รักแห่งสยาม
เกี่ยวกับเกย์คาทอลิค
โดย….คุณโตมร ศุขปรีชา credit : บทความจากกรุงเทพธุรกิจ
คุณเคยสงสัยไหมว่า เพราะอะไร ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’
ถึงต้องเป็นคาทอลิกและเป็นเกย์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หลายปีก่อน เมื่อไปไอร์แลนด์ ผมเคยถามคุณป้าคนหนึ่ง หลังแก้วเหล้าว่า ไอร์แลนด์ซึ่งเป็นดินแดนแห่งคาทอลิกนั้นมีเกย์ไหม และมีการรวมตัวกันของกลุ่มเกย์คาทอลิกเหมือนที่ออสเตรเลียบ้างไหม คุณป้าแทบจะทำหน้าผีหลอกใส่ผม แล้วบอกผมว่า คำสองคำนี้เอารวมกันไม่ได้ เพราะมันไม่ ‘เมคเซนส์’ เอาเสียเลย เกย์กับคาทอลิก มันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
ถ้าคุณเลือกที่จะเป็นเกย์ คุณก็ต้องไม่เป็นคาทอลิก
แต่ถ้าคุณจะเป็นคาทอลิก คุณก็ต้องไม่เป็นเกย์
ผมพลันนึกขึ้นได้ ณ บัดดลว่า ถ้าคุณเป็นคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ที่เดียวที่ผู้ชายจะหลั่งน้ำอสุจิใส่ได้ ก็คือในช่องคลอดของภรรยาที่ ‘รับศีลสมรส’ หรือผ่านการแต่งงานกันมาอย่างถูกต้องตามพิธีต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าแล้วเท่านั้น แม้แต่การทำอัตกามกิริยาหรือใส่ถุงยางยังถือว่าผิดเลย สำมะหาอะไรกับการหลั่งน้ำอสุจิใส่ปากหรือทวารหนักของผู้ชายด้วยกัน ซึ่งแม้โดยมาตรฐานของสังคมรักต่างเพศทั่วไปก็ยังเห็นว่าเป็น Bad Sex
ด้วยเหตุนี้ สำหรับผม การที่ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’ เป็นคาทอลิก และเป็นเกย์คาทอลิกด้วย จึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย ตื่นเต้น และน่าพูดถึงมากที่สุด เพราะนี่คือหนังไทยเรื่องแรกที่วิพากษ์ความเป็นคาทอลิก ที่มีการควบคุมทางเพศอย่างเคร่งครัด เป็นประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึง ………..แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของหนัง
1.คริสต์มาสและซานตาคลอส
ทำไมเรื่องคาทอลิกถึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดหรือครับ คำตอบง่ายๆ อยู่ที่ผู้กำกับ ‘จงใจ’ จะทำประเด็นนี้ให้ ‘ดูเหมือน’ เป็นเรื่องที่ ‘พลาด’ ที่สุด และตอนแรกผมก็เกือบจะงับกับดักนี้เข้าให้แล้ว เพราะถ้าดูเผินๆ เราสามารถ ‘ตัด’ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคาทอลิกออกไปได้ทั้งหมด เด็กสองคนไม่จำเป็นต้องมาเจอกันในโรงเรียนก็ได้ เพราะบ้านอยู่ใกล้กันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเกิดเรื่องใหญ่ ตอนคริสต์มาส ไม่จำเป็นต้องมีฉากเล่นละครตอนพระกุมารประสูติ ไม่จำเป็นที่จะต้องสวดก่อนอาหาร และยิ่งไม่จำเป็นเลยที่ต้องให้มิวไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตวันคริสต์มาส การใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาแทบจะทำให้หนังมีกลิ่นอายเมโลดราม่า ของซีรีส์ฝรั่งดาษดื่น………ที่ทำกันทุกปลายปีไม่มีผิดเพี้ยน
แต่แล้ว ด้วยความละเอียดในแง่มุมอื่นๆ ของผู้กำกับ (เช่น เรื่องการใช้สี การใช้สัญลักษณ์ผ่านตุ๊กตา ความพิถีพิถันในการแสดง ฯลฯ) ก็ได้ทำให้ผมรู้สึกว่า ยิ่งผู้กำกับใส่เรื่องที่ดู ‘ไม่จำเป็น’ เข้าไปมากเท่าไร กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ มากเท่านั้น
การใส่ประเด็นคาทอลิกลงไปในหนัง โดยดูเหมือนไม่จำเป็นตอกย้ำให้คนดูรู้ว่า นี่คือหนังที่ผู้กำกับจงใจจะวิพากษ์ความเป็นคริสต์ และเน้นย้ำลึกลงไปถึงคริสต์แบบคาทอลิกโดยเฉพาะ!
ตอนเด็กๆ ผมเชื่อว่า มิวกับโต้ง เรียนอยู่ในโรงเรียนคาทอลิก อาม่าของมิวนั้นอาจไม่ใช่คาทอลิก แต่เป็นคนจีนที่มีฐานะร่ำรวยและได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นลวดลายวอลล์เปเปอร์ในบ้านหรือการเล่นเปียโน เผลอๆ อากงหรือสามีของอาม่าอาจจะเป็นคาทอลิกก็ได้ แต่หนังไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจน เพียงแต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ทว่าทั้งหมดคือการปูพื้นฐานให้เห็นเหตุผล ที่มิวเข้าไปเรียนในโรงเรียนคาทอลิก โดยอาจจะเป็นหรือไม่เป็นคาทอลิกก็ได้
ส่วนโต้งนั้น การอยู่ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดทำให้ที่บ้านต้องส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่แล้วคล้ายเป็นไฟลต์บังคับ ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าครอบครัวของโต้งเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด คำตอบอยู่ที่การสวดก่อนอาหาร ซึ่งปัจจุบันคาทอลิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ยกเว้นในครอบครัวที่เคร่งจริงๆ เท่านั้น …..ความงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ตรงนี้…..
อยู่ตรงที่ผู้กำกับสร้างปม ‘ความขัดแย้ง’ ที่รุนแรงมากขึ้นมา แต่กลบเกลื่อนให้เหลืออยู่เพียงจางๆ อย่างแนบเนียน แฝงอยู่เฉพาะในบรรยากาศโดยไม่มีใครเอ่ยปากขึ้นมาตรงๆ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสกับหัวใจของคนดูได้โดยไม่รู้ตัว
โรงเรียนที่เด็กทั้งสองเข้าเรียน มีชื่อว่าเซนต์นิโคลัส ซึ่งชื่อก็บอกเต็มตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนเซนต์นิโคลัสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ผมเข้าใจว่าไม่น่าจะมีโรงเรียนชื่อนี้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือถ้ามีก็ไม่น่าจะอยู่แถวๆ สยามสแควร์แน่ๆ โรงเรียนนี้จึงเป็นสถานที่สมมติที่ซ้อนอยู่กับสถานที่จริงอย่างสยามสแควร์ และเป็นความจงใจที่ใส่เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมสะดุดอย่างชัดเจน ทำไมต้องเป็นเซนต์นิโคลัส ?
เซนต์นิโคลัสนั้น ที่จริงแล้วเป็นชื่อจริงของ ‘ซานตาคลอส’ ยังไงล่ะครับ
สำหรับคนไทย ซานตาคลอสคือสัญลักษณ์ของคริสต์มาส ขณะที่คริสต์มาสเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์!
ครอบครัวของโต้งส่งโต้งเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ก็แปลว่าเขาต้องการให้ลูกได้รับการอบรมกล่อมเกลาในแบบคาทอลิกแท้ๆ ที่ต้องมีการเรียนคำสอนทุกวันมาตั้งแต่เด็ก
นั่นขยายความให้ลึกขึ้นได้ว่า โต้งเองก็ต้องมี ‘ราก’ แบบคาทอลิก
ที่จะมากจะน้อยก็เชื่อในพระเจ้าและมี ‘ความกลัว’ บางแบบฝังอยู่ในหัวใจ เหมือนที่ชาวยิวกลัวพระเจ้าจะลงโทษถ้าทำผิด และนั่นส่งผลสะเทือน มาถึงตอนจบของเรื่อง-ตอนจบ……ที่คนดูบอกว่าเศร้าเหลือเกินนั่นแหละครับ
อย่างไรก็ดี การหายตัวไปของแตง-พี่สาวของโต้ง ทำให้ครอบครัวของโต้งเจ็บปวดจนต้องย้ายที่อยู่ เขาจึงถูกพรากไป ไม่ใช่พรากไปจากมิว แต่พรากไปจากโรงเรียนเซนต์นิโคลัส
ซึ่งก็คือการพรากไปจากความเชื่อมั่นศรัทธาในแบบคริสตชน เรื่องนี้จะเห็นได้จากการที่ครอบครัวของโต้งไม่สวดก่อนอาหารอีกต่อไป การหายตัวไปของแตงทำให้ทั้งพ่อและแม่ (โดยเฉพาะพ่อ) ไม่เหลือศรัทธาในพระเจ้าและศาสนจักรอีก
เมื่อเราได้พบกับโต้งอีกครั้งในตอนโต เขาจึงเรียนอยู่ในโรงเรียนอะไรสักอย่าง ที่ผมเชื่อว่าไม่ใช่โรงเรียนคาทอลิก โดยดูจากชุดนักเรียนกางเกงสีดำ (ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล) สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาในศาสนาที่ครอบครัวนี้สูญเสียไปซ้ำอีกครั้ง โต้งจึงสามารถเรียนโรงเรียนอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนคาทอลิก
แต่มิว (ซึ่งไม่น่าจะใช่คาทอลิก) ยังเรียนอยู่ที่เซนต์นิโคลัส ปลูกฝังและเติบโตขึ้นมากับดนตรีที่เขารักและได้รับการถ่ายทอดมาจากอาม่า โดยสัญลักษณ์แล้ว เขาจึงยังอยู่กับความเป็นคาทอลิก ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็ตาม
2.ความรักและคาทอลิก
เมื่อความรักถือกำเนิดขึ้น เด็กชายทั้งคู่เลือกเดินตามมันไป สำหรับชาวคริสต์ แก่นสำคัญของศาสนาก็คือความรัก ดังนั้น เมื่อเด็กผู้ชายทั้งสองรักกัน จึงไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรค แต่ที่จริง ความเป็นคาทอลิกเอง กลับกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในความรักของคนทั้งสอง แน่นอนว่า ย่อมมีความจริงอยู่ในความรักตั้งมากมาย แต่กรอบใหญ่ของชีวิตบางกรอบก็พยายามขีดเส้นกั้น ให้ความจริงบางอย่างเหนือกว่าบางอย่าง ความรักจึงมักถูกตีวงให้ต้องจำกัดตัวเองตามไปด้วย
สำหรับโต้ง ครั้งหนึ่งคริสต์มาสเคยหมายถึงการสิ้นสุด เขาเล่นละครเป็นลูกแกะอยู่บนเวที แต่แล้วเขาก็ต้องถูกบังคับให้พรากจากนายชุมพาบาลของตัวเองไป เขาต้องจากโรงเรียน จากเซนต์นิโคลัส จากเพื่อน และจากแม้กระทั่งความรักความอบอุ่นของครอบครัวตัวเองไปในวันคริสต์มาสนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่โต้งจะไม่ตื่นเต้นยินดีอะไรนักกับการจัดต้นคริสต์มาสของแม่ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังพกเอาความเป็นคาทอลิกเอาไว้ในตัว เต็มเปี่ยมเหมือนต้นไม้ที่ฝังรากลึกอยู่ในดิน
และแล้ว คริสต์มาสอีกครั้งหนึ่งก็ได้ทำให้เขาต้องตัดสินใจ
คริสต์มาสที่พกเอาความเป็นคาทอลิกไว้ในตัวเต็มเปี่ยม ไม่เพียงเคยทำให้ใครบางคนหล่นหายไปจากชีวิตของเขา แต่ความเป็นคาทอลิกยังรั้งเขาไว้ ไม่ให้ย้อนกลับไปสานสัมพันธ์กับคนคนนั้นต่ออีกด้วย
หลายคนคาใจว่า เหตุใดเมื่อแม่ของโต้งอนุญาตกลายๆ แล้วว่าให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด เขาจึงยังไม่เลือกที่จะคบกับมิวในฐานะแฟนอีก ผมคิดว่าประโยคสั้นๆ ที่โต้งบอกมิวในตอนท้ายว่า- เขาไม่อาจคบมิวในฐานะแฟนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักมิว- นั้น เป็นประโยคที่สรุปความเป็นเกย์คาทอลิก เอาไว้ได้ชัดเจนหมดจดที่สุด
ความเป็นคาทอลิกได้เอื้อมมือ ที่มองไม่เห็นเข้ามาเหนี่ยวรั้งความรักแบบเกย์ของโต้งเอาไว้ เขาจึงไม่อาจเดินต่อไปบนหนทางของความรักแบบนี้ได้ การเป็น ‘แฟน’ ของผู้ชายกับผู้ชายถือเป็นเรื่องผิดสำหรับคาทอลิก แต่โต้งก็ฉลาดพอที่จะบอกมิวว่า ถึงจะมีเงื่อนไขนี้ค้ำคออยู่ แต่เขาก็ยังสามารถ ‘รัก’ มิวได้ มันเป็นการลดเลี้ยวเพื่อหลีกหนี ออกจากกรอบกั้นที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเด็กผู้ชายคาทอลิก ที่รักกับเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่ง สิ่งที่หนังได้ทำลงไป จึงเป็นการวิพากษ์ความขัดแย้ง ในการตีความเรื่องความรักของศาสนจักรคาทอลิก…..อย่างแนบเนียนและแยบยล
มิวไม่ใช่คาทอลิก แต่มิวคือตัวแทนของ ‘ซานตาคลอส’ ผ่านการเป็นนักเรียนโรงเรียนเซนต์นิโคลัส (เฮ้ย! ได้ข่าวว่า-ึงไปคบกับเด็กโรงเรียนเซนต์นิโคลัสเหรอวะ-เพื่อนของโต้งเคยถามอย่างนั้น) ด้วยเหตุนี้ มิวจึงเป็นซานตาคลอสของโต้งมาโดยตลอด แม้มิวจะรับตุ๊กตาไม้ตัวนั้นมาจากโต้ง แต่มิวกลับคือผู้ให้ เป็นส่วนเติมเต็มของโต้ง เป็นความชื่นชมยินดี…..ที่เหลืออยู่เพียงสิ่งเดียวในชีวิตของโต้ง
ถ้าคุณมองดูบ้านของโต้ง คุณจะพบบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น มันคือบ้านที่แลดูรกร้างว่างเปล่าไม่ผิดอะไรกับจิตวิญญาณที่ว่างเปล่าของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง บ้านของโต้งดูมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่เหลือความอบอุ่นอะไรอีกแล้ว ขณะที่มิวอยู่คนเดียว แต่บ้านของมิวกลับแลดูอบอุ่นอย่างประหลาด ผ้าปูที่นอนสีเขียวดูมีชีวิต เช่นเดียวกับคีย์บอร์ดและเสียงเพลง รวมถึงรูปถ่ายที่เป็นร่องรอยความ
อบอุ่นในอดีต เขายังได้สวัสดีอาม่าก่อนไปเรียน แม้อาม่าจะเหลือเพียงภาพถ่ายก็ตาม แต่โต้งไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันหายไปพร้อมกับแตง
คำถามก็คือ ระหว่างมิวกับโต้ง ใครเป็น ‘คาทอลิก’ มากกว่ากัน?
ถ้าดูจาก ‘ฟอร์ม’ หรือรูปแบบภายนอก แน่นอน-โต้งย่อมเป็นคาทอลิกมากกว่า แม้เขาจะเรียนโรงเรียนรัฐบาล แต่ที่บ้านก็เป็นคาทอลิกแน่ๆ แต่ถ้าดูจาก ‘สาระ’ ของชีวิตเล่า แม้มิวจะบอกว่าเหงา แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่าเขาเหงา เขามีเพื่อน มีจิตวิญญาณของผู้ชราที่ล่วงลับล่องลอยเป็น ‘เพื่อน’ (เหมือนที่อาม่าเรียกเขา) อยู่เสมอ ชีวิตของมิวจึงอบอวลด้วยความรัก และความรักก็คือสาระที่แท้ของการเป็นคาทอลิก จึงเหมาะสมแล้ว ที่มิวจะใส่เสื้อนักเรียนที่ปักอักษรย่อว่า ซ.น.ค. เพราะเขาคือ….ซานตาคลอสของโต้ง
3.กรอบที่กักขัง
ในฉากโต้งกลับบ้านมานอน และสินจัยเปิดประตูห้องนอนของโต้งเข้ามาหลังตามหาลูกชายมาทั้งคืน เราจะเห็นโปสเตอร์บนหัวนอนของโต้งเป็นรูปไม้กางเขน มีถ้อยคำเขียนว่า I Believe ซึ่งแปลว่า ฉันเชื่อ หรือฉันศรัทธา สีพื้นของโปสเตอร์นั้นมีสีเขียว ซึ่งในหนังให้เป็นสีของมิว โดยนัยนี้ มิวและความเป็นคาทอลิก จึงหลอมรวมเข้าหากันและกัน และวางตัวอยู่ใกล้ชิดกับโต้งมากกว่าที่ใครๆ คิด
ผู้กำกับใส่สัญลักษณ์ต่างๆ เข้ามาอย่างอ่อนโยน
เมื่อมองในด้านกลับ ผมเลยอดคิดไม่ได้ว่าการโปรโมทหนังแบบจงใจ ลวงโดยไม่ใส่เรื่องเกย์เข้ามาเลยนั้น น่าจะเป็นเสมือนการร้องขอความเข้าใจที่นุ่มนวลจากสังคมโฮโมโฟเบียมากกว่าการจงใจหลอก เช่นกันกับการทำให้มิวมีความเป็นคาทอลิกอยู่ในตัวมากกว่าโต้ง ก็คือการสลับสาระกับรูปแบบ และการ ‘สลับ’ นี้ ก็ปรากฏอยู่ในเรื่องให้เห็นเป็นระยะ เช่น หน้าตาของมิวและโต้งในวัยเด็กกับวัยรุ่น คนที่อยู่กับโต้งตอนที่โต้งจะซื้อจมูกตุ๊กตาให้มิว (คือโดนัทกับหญิง) การสลับ ‘คุณค่า’ กับ ‘ราคา’ ที่แพงขึ้นผ่านกาลเวลาของตุ๊กตาตัวนั้น การสลับบทบาทในครอบครัวของสินจัยและทรงสิทธิ์ การที่มิวลุกขึ้นร้องเพลงบนเวทีทั้งที่บอกว่าร้องไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การสอดใส่ ‘จมูก’ ของตุ๊กตาของเล่นที่ไม่พอดีในตอนจบ และแม้แต่การทำให้ต้นคริสต์มาสในบ้านของโต้งมองดูสูงชะลูดคล้ายเป็น phallic symbol ทั้งยังดูหดหู่ผิดจากต้นคริสต์มาสทั่วไป
การสลับสิ่งเหล่านี้ แง่หนึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง บางครั้งเกือบจะฉูดฉาด ทว่าผู้กำกับควบคุมไว้ได้ให้มันนวลเนียน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมรู้สึกคล้ายกับว่าหนังต้องการให้เรามองโลกใบเดิม (เช่น ‘สยาม’ ซึ่งสุดแสนจะ Clich? ไม่ว่าจะหมายถึงสยามสแควร์หรือสยามประเทศ) เสียใหม่ ด้วยการหยิบคุณค่าความหมายใหม่ๆ ใส่เข้ามา หรือถ้าหาคุณค่าความหมายใหม่ไม่ได้ในโลกใบที่ทุกอย่างซับซ้อนสับสนและไม่มีใครค้นพบอะไรใหม่ ก็อาจทำเพียงมองมันสลับที่กันบ้างเท่านั้นเอง เพียงเท่านั้น-บางครั้งก็อาจทำให้ชีวิตน่าอยู่มากขึ้น ไม่เปล่าดายจนเกินไป และอาจมีความเหงาในหัวใจน้อยลง
บางทีเราก็ไม่อาจต่อกร กับกรอบใหญ่ๆ ในชีวิตได้ทั้งหมด มือที่มองไม่เห็นมักยื่นเข้ามาควบคุมเราอยู่เสมอ การสลับที่ของบทบาทและความหมายเหล่านี้ จึงเป็นการปฏิวัติเงียบต่อโครงสร้างใหญ่ที่กดทับเราอยู่
สำหรับผมหนังเรื่องนี้คือการตะโกนใส่หน้าศาสนจักรคาทอลิกว่า…ฉันจะรัก เพราะความรักคือเนื้อแท้ของมนุษย์ และเป็นเนื้อแท้ของความเป็นคาทอลิกด้วย
ใครที่บอกว่า วัยรุ่นสมัยใหม่สนใจแต่ตัวเอง ลองคิดดูอีกทีหนึ่งนะครับ เพราะแม้ในหนังเรื่องนี้ที่มีท่าที ‘พูดถึงตัวเอง’ เต็มที่ ก็ยังแอบแฝงการวิพากษ์โครงสร้างใหญ่ ชนิดที่คนรุ่นก่อนไม่เคยกล้าทำเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง หนังเรื่องนี้คือการประกาศว่ามีเกย์คาทอลิกอยู่ในโลกนี้จริงๆ และพวกเขาคือเกย์คาทอลิก ไม่ว่าจะพลิกดูจากความหมายไหน !
หมายเหตุ: (นอกจากจะเป็นบรรณาธิการหนุ่มไฟแรงแห่ง นิตยสาร GM แล้ว โตมร ศุขปรีชา ยังเป็นนักเขียน-นักแปลและคนทำงานด้านความคิด ที่มีมุมมองทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย บทวิจารณ์หนังเรื่อง 'รักแห่งสยาม' ในครั้งนี้ คงเป็นหลักฐานมัดตัวผู้เขียนจากถ้อยคำนี้ได้เป็นอย่างดี - นันทขว้าง สิรสุนทร) …………..โตมร ศุขปรีชา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit