กลุ่มพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแห่งเอเชียเดินหน้ารณรงค์ หวังปกป้องเด็กๆจากโรคพีดี

17 Dec 2007

โซล--17 ธ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ - เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์


ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจากทั่วเอเชียแปซิฟิกรวมกลุ่มกัน หวังป้องกันโรคติดเชื้อพีดี


การต่อสู้เพื่อป้องกันมิให้เด็กๆ ในเอเชียแปซิฟิกต้องเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ โรคพีดี (Pneumococcal disease หรือ PD) กำลังดำเนินไปอย่างเร่งด่วน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจากทั่วภูมิภาคที่ได้มารวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจสำหรับจุดประสงค์ดังกล่าวในชื่อ “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแห่งเอเชีย” (Asian Strategic Alliance for Pneumococcal disease prevention) หรือ ASAP

องค์กรดังกล่าวก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการป้องกันโรคพีดีและช่วยชีวิตเด็กๆ ให้ได้โดยเร็วที่สุด ตามชื่อ “ASAP” ที่ปกติย่อมาจากคำว่า “As-Soon-As-Possible” (โดยเร็วที่สุด) ซึ่งนับเป็นชื่อที่เหมาะสมกับองค์กรดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ASAP เป็นพันธมิตรด้านการป้องกันโรคพีดีกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้นยังเป็นกลุ่มพันธมิตรกลุ่มเดียวในเอเชียที่ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลก อย่างเช่น สถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute หรือ IVI) ที่จะกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญและการป้องกันโรคพีดี

ASAP เป็นองค์กรซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Awareness Council of Experts หรือ PACE) และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย (Asian Society of Paediatric Infectious Diseases หรือ ASPID) นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณะสุขและกลุ่มกุมารแพทย์ เพื่อยับยั้งและควบคุมโรคพีดีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการกระตุ้นเตือน เฝ้าระวัง รณรงค์ และป้องกัน

การประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในที่ประชุมว่าด้วยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพีดีแห่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ โรงแรมล็อตเต กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2550 โดยสถาบัน IVI

โรคพีดี เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในปัจจุบัน โดยในแต่ละปีมีเด็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ราว 700,000 ถึง 1 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ หรือกล่าวได้ว่ามีเด็กๆ เสียชีวิตกว่าชั่วโมงละ 80-112 คน หรือ วันละ 1,900-2,700 คนทั่วโลก

ทั้งนี้ โรคพีดี ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

ดร.ลูลู่ บราโว่ ประธานองค์กร ASAP และ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อในเด็กของวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์มะนิลา โรงพยาบาลฟิลิปปินส์ เจเนอรัล กล่าวว่า “ในฐานะแพทย์และพ่อแม่ของลูก เราตระหนักดีว่าการเสียชีวิตของเด็กส่งผลกระทบต่อจิตใจทุกคนมากแค่ไหน แต่คุณอาจไม่รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดและความสูญเสียจนกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับลูกของคุณเอง เราต้องการบอกให้ทุกคนทราบว่า เหตุการณ์ร้ายดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงได้ โรคพีดีสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เราคิดว่าถ้าพ่อแม่ แพทย์ และผู้มีอำนาจทางกฎหมาย มีความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรค ก็จะเกิดการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนในการลดผลกระทบอันรุนแรงของโรคดังกล่าว”

“ASAP ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กๆ เพื่อช่วยให้พวกเขามีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว องค์กรของเราเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงโรคพีดีให้มากขึ้น รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรค นำเสนอทางออกในการแก้ปัญหา และผลักดันให้มีการใช้วิธีใหม่ๆ ในการป้องกันโรค”

ปัจจุบัน วัคซีน พีซีวี-7 (Pneumococcal Saccharide Conjugated Vaccine หรือ PCV-7) สำหรับฉีดเข้าร่างกาย เป็นวัคซีนตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้ป้องกันโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease หรือ IPD) ในเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 24 เดือน รวมถึงเด็กโตจนถึงอายุ 9 ขวบด้วย

วัคซีน พีซีวี-7 จะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียม สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Bacterium Streptococcus Pneumoniae) แบบ 7 ซีโรไทป์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ นิวโมคอคคัส (Pneumococcus)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้บรรจุวัคซีน พีซีวี-7 เข้าในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระดับชาติ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากกว่า 50 คน ในเด็ก 1,000 คน หรือในประเทศที่มีเด็กเสียชีวิตมากกว่า 50,000 คนต่อปี

ปัจจุบันหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันเด็กทารกและเด็กเล็กจากโรคพีดี ส่งผลให้วัคซีน พีซีวี-7 ซึ่งมีใช้ใน 76 ประเทศทั่วโลก (ณ เดือนมกราคม 2550) ได้เข้าสู่โปรแกรมการฉีดวัคซีนประจำปีสำหรับเด็กใน 17 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเพียงประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่ผนวกวัคซีน พีซีวี-7 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระดับชาติ

ในภูมิภาคเอชียแปซิฟิก เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพีดีให้เด็กแรกเกิดมากที่สุดที่ 78% ตามมาด้วยฮ่องกงที่ 41%, สิงคโปร์ 36% และ ไต้หวันที่ 24% ในขณะที่ประเทศที่เหลือมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพีดีที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอยู่ที่ราว 0-3% เท่านั้น

ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีน พีซีวี-10 และ พีซีวี-13 เพิ่มเติมจากวัคซีน พีซีวี-7 ที่มีอยู่เดิม และเมื่อใดก็ตามที่วัคซีนตัวใหม่ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมกว่าเดิมได้รับการเผยแพร่ ประเทศที่ใช้วัคซีน พีซีวี-7 อยู่แต่เดิมก็สามารถประเมินว่าควรจะเปลี่ยนไปใช้วัคซีนตัวใหม่หรือไม่

ทั้งนี้ ASAP ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 2-3 ปีต่อจากนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับโรคพีดีจากทั่วภูมิภาค นอกจากรแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการป้องกันและจัดการกับโรคพีดีแล้ว ทาง ASAP ยังจะร่วมมือกับผู้มีอำนาจทางกฎหมายเพื่อผลักดันการดำเนินการดังกล่าวด้วย และเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคพีดี ทาง ASAP จะร่วมมือกับสื่อมวลชนในการริเริ่มโครงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว

นอกจากนี้ สมาชิกของ ASAP ยังทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาสื่อความรู้สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างมืออาชีพ ซึ่งรวมถึงการกำหนดเนื้อหาอย่างเป็นระบบสำหรับการประชุมด้านโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในระดับภูมิภาค โดยปัจจุบันนี้ สมาชิกของ ASAP ประกอบด้วยบรูไน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเก๊า มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน และประเทศไทย

ดร.บราโว ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชั่วคราวขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านการเจ็บป่วยในเด็ก และยังอยู่ในวาระการเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการวางระเบียบวาระการประชุมด้านเทคนิคสำหรับเด็กและวัยรุ่นขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า "จริงๆแล้ว ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่สำคัญไปกว่าการช่วยชีวิตเด็กๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้คืออนาคตของพวกเรา การก่อตั้งพันธมิตร ASAP ถือเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าที่ดี แต่ขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เราหวังว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย ผู้นำทางความคิดและผู้ที่มีอิทธิพลจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรของเรามากขึ้น รวมทั้งจะสร้างความแตกต่างในการต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายที่คร่าชีวิตเด็กๆของเรา"


ความเป็นมาของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส(พีดี)

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ซึ่งรวมถึงโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคหูชั้นกลางอักเสบรุนแรง) ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิจารณาการใช้วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (SAGE) ได้แนะให้มีการนำวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสมารวมอยู่ในโครงการสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมองว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและการต่อสู้กับเชื้อโรคที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยได้อย่างยั่งยืน


เกี่ยวกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแห่งเอเชีย(ASAP)

ASAP ได้มีการเปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 และเป็นหน่วยงานแห่งแรกและแห่งเดียวที่รวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาสุขภาพอย่างมืออาชีพในภูมิภาคเอเชีย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นในการหาต้นเหตุของการเกิดโรคพีดีในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ASAP ยังเป็นกลุ่มองค์กรในทวีปเอเชียที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิ สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ในการพัฒนาการดำเนินการเพื่อปลูกจิตสำนึกที่มีต่อโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคพีดี รวมถึงการป้องกันโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ASAP เป็นเครือข่ายของสภาผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อนิวโมคอคคัสระดับโลก(PACE) และสมาคมกุมารแพทย์ด้านการรักษาโรคติดเชื้อแห่งเอเชีย(ASPID) นอกจากนี้ ASAP ยังร่วมมือกับกลุ่มกุมารแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการป้องกันและควบคุมเชื้อนิวโมคอคคัสในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ผ่านการตระหนักถึงพิษภัย การควบคุมดูลแล การสนับสนุน และการป้องกันโรคพีดี


แหล่งข่าว พอร์เตอร์ โนเวลลี


ติดต่อ: เมลิสซ่า แทน

โทร +65-6539-9295,

แซม แรน

โทร +65-6539-9277

ทั้งคู่จากพอร์เตอร์ โนเวลลี


--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net )--