กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--วารสารการเงินธนาคาร
นับเป็นปีที่ 13 แล้ว ที่ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของเศรษฐีหุ้นในปี 2550 ซึ่งวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2550 จำนวน 4,831 ราย มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 476,186 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2548 ถึง 109,217 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29.76%
สำหรับสำหรับผลการจัดอันดับในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2550 ปรากฏว่า ตำแหน่งแชมป์เศรษฐีหุ้นประจำปี 2550 ได้แก่ อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 13,230.23 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 20.9% มูลค่า 13,221.99 ล้านบาท และ บมจ.แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) 1.67% มูลค่า 8.24 ล้านบาท
ส่งผลให้ อนันต์ เป็นเศรษฐีหุ้นที่ครองตำแหน่งแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยมากที่สุดถึง 5 ปีด้วยกัน คือ ปี 2537 มีมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 21,680.33 ล้านบาท ปี 2545 มูลค่า 9,858.16 ล้านบาท ปี 2546 มูลค่า 16,373.37 ล้านบาท ปี 2549 มูลค่า 13,139.86 ล้านบาท และปี 2550 นี้ที่ยังถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดถึง 13,230.23 ล้านบาท
เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 คือ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เจ้าของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท หรือ PS ซึ่งราคาหุ้น PS ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 25.95% มูลค่าหุ้น PS ที่ทองมาถือในสัดส่วน 62.19% จึงเพิ่มขึ้นเป็น 11,153.95 ล้านบาท ส่งผลให้ยังคงอันดับ 2 เหมือนเมื่อปีที่แล้ว โดยรวยขี้น 2,305.62 ล้านบาท หรือ 26.06% โดยรวยขึ้น 2,305.62 ล้านบาท หรือ 26.06%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 เปรมชัย กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ก้าวขึ้นจากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว โดยรวยขึ้น 1,640.47 ล้านบาท หรือ 34.69% จากการถือครองหุ้น ITD 19.54% มูลค่า 6,228.54 ล้านบาท และโรงแรมโอเรียนเต็ล (OHTL) 1.70% มูลค่า 141.19 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6,369.73 ล้านบาท
ด้าน นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ แห่งบางกอกแอร์เวย์ส รวยขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่อันดับ 4 ในปีนี้ โดยถือหุ้นรวมมูลค่า 6,278.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,089.83 ล้านบาท หรือ 49.89% ซึ่งราคาหุ้นที่หมอเสริฐถือครองได้ปรับตัวสูงขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ถือในสัดส่วน 13.34% มูลค่า 6,264.66 ล้านบาท และ บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) 0.79% มูลค่า 14.34 ล้านบาท
เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ตกเป็นของ วรเจตน์ อินทามระ ก้าวขึ้นมาจากอันดับ 661 เมื่อปีก่อน โดย ถือครองหุ้น บมจ.ซีฮอร์ส (SH) 78.38% มูลค่า 6,101.20 ล้านบาท และ บมจ.เงินทุน กรุงเทพธนาทร (BFIT) 4.96% มูลค่า 70.93 ล้านบาท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 6,172.13 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้นถึง 6,080.37 ล้านบาท
ทั้งนี้ วรเจตน์ ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน SH เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 ซึ่ง SH ได้เพิ่มทุนจำนวน 2,600 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 0.63 บาท ให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง ได้แก่ วรเจตน์ อินทามระ จำนวน 2,179 ล้านบาท คิดเป็น 78.38% และ สมโภชน์ อาหุนัย จำนวน 421 ล้านบาท คิดเป็น 15.14% เพื่อขยายกิจการสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น การผลิตเอทานอล ควบคู่กับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท
การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ยังส่งผลให้ สมโภชน์ อาหุนัย อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า จำกัด ก้าวเข้ามาเป็นเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ในอันดับ 74 ถือหุ้น SH 15.14% มูลค่า 1,178.80 ล้านบาท
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีคำสั่งให้ SH ชี้แจงข้อมูลถึง 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่รายละเอียดการขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนของการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่จากนักลงทุนใหม่ทั้ง 2 ราย
ต่อมาก็มีประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนักลงทุนทั่วไปให้ความสนใจคือ ความไม่ชัดเจนจากการเข้าลงทุนทั้งใน บริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ และบริษัท บุญอเนก ของ SH เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้ยังไม่ได้ดำเนินการในด้านการผลิตเอทานอล มีเพียงใบอนุญาตและที่ดินเท่านั้น รวมทั้งยังมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน
ส่วนเจ้าพ่อแห่งวงการโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์และเอจีวี วิชา พูลวรลักษณ์ ถูกเบียดตกลงมาอยู่อันดับ 6 หลังจากเข้ามาเป็นเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ในปีที่แล้ว โดยถือหุ้น บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) 37.95% มูลค่า 5,920.05 ล้านบาท แต่ยังรวยขึ้น 1,576.19 ล้านบาท หรือ 36.29%
สำหรับ นิจพร จรณะจิตต์ พี่สาวของ เปรมชัย กรรณสูต ยังรักษาอันดับ 7 ไว้ได้ โดยถือหุ้นมูลค่า 5,405.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,413.06 ล้านบาท ล้านบาท หรือ 35.40% ประกอบด้วย หุ้น ITD 11.03% มูลค่า 3,516.17 ล้านบาท OHTL 21.91% มูลค่า 1,822.86 ล้านบาท และ บมจ.โพส พับบลิชชิ่ง (POST) 2.52% มูลค่า 66.26 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ ประวิทย์ มาลีนนท์ แห่งช่อง 3 ที่ยังครองอันดับ 8 ในปีนี้ โดยรวยเพิ่มขึ้น 1,416.08 ล้านบาท หรือ 36.47% โดยถือหุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) 11.42% รวมมูลค่า 5,298.88 ล้านบาท
ด้านนักลงทุนรายใหญ่ อย่าง นิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาท สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ แห่งโอสถสภา ก้าวขึ้นจากอันดับ 10 มาอยู่ในอันดับ 9 โดยปีนี้นิติลงทุนในหุ้นทั้งหมด 19 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 5,274.18 ล้านบาท รวยขึ้น 2,328.97 ล้านบาท หรือ 79.08% เนื่องจากหุ้นที่ถือเกือบทั้งหมดปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา
ส่วน วิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ปีนี้ตกจากอันดับ 9 มาอยู่อันดับ 10 แต่ยังรวยขึ้น 802.21 ล้านบาท หรือ 26.36% จากการถือหุ้น AMATA 22.96% มูลค่า 3,773.15 ล้านบาท และ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) 0.58% มูลค่า 71.86 ล้านบาท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 3,845.02 ล้านบาท
สำหรับตระกูลมาลีนนท์ เจ้าของไทยทีวีสีช่อง 3 ยังคงเป็นแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยอีกครั้งในปีนี้ โดย 7 เครือญาติในตระกูลมาลีนนท์ อันได้แก่ ประวิทย์ ประชุม รัตนา ประสาร นิภา แคททลีน และ เทรซีแอนน์ มาลีนนท์ ถือหุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) บมจ.ศิครินทร์ (SKR) และ บมจ.ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (CVD) รวมมูลค่า 26,472.16 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 7,046.68 ล้านบาท หรือ 36.28%
ตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 และ 3 สลับตำแหน่งกันเล็กน้อย โดยตระกูลอัศวโภคิน ก้าวขึ้นจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับ 2 รวยเพิ่มขึ้น 1,964.28 ล้านบาท หรือ 12.37% จากการถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) & บมจ.แมนดาริน โฮเต็ล (MANRIN) ของ อนันต์ อัศวโภคิน และ 3 ทายาท อาชวิณ-อาชนัน-อลิสา อัศวโภคิน ที่ถือหุ้น บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ในสัดส่วนที่เท่ากัน 2.07% รวยคนละ 265.28 ล้านบาท รวมทั้งอนุพงษ์ อัศวโภคิน น้องชาย ที่ถือหุ้นใน บมจ.เอพี พร๊อพเพอร์ตี้ (AP) และ MANRIN มูลค่า 3,703.70 ล้านบาท รวมมูลค่าหุ้นที่ตระกูลอัศวโภคินถือครองทั้งสิ้น 17,840.87 ล้านบาท
ส่วนตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัล ซึ่งมีเครือญาติในตระกูลที่ติดอันดับเศรษฐีหุ้นมากที่สุดถึง 17 คน ตกจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับ 3 โดยถือหุ้นรวมมูลค่า 16,091.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.88 ล้านบาท หรือ 0.61% โดยหุ้นที่กลุ่มจิราธิวัฒน์ถือส่วนใหญ่ จะเป็นหุ้นของธุรกิจในตระกูล เช่น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา (CENTEL), บมจ.บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) บมจ.เอบิโก้โฮลดิ้ง (ABICO) และ บมจ.ธนมิตร แฟคตอริ่ง (DM) อันดับ 4 ยังเป็นของตระกูล “วิจิตรพงศ์พันธุ์” เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรแบรนด์ “พฤกษา” ซึ่งนอกจาก ทองมา วิจิตรพงศ์พันธ์ แล้วยังมี ภรรยา ทิพย์สุดา และลูกสาว มาลินี-ชัญญา ที่ถือหุ้น บมจ.พฤกษา (PS) ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 3.91% รวยคนละ 701.25 ล้านบาท ติดอันดับ 127 เศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ รวมแล้วตระกูลวิจิตรพงศ์พันธ์รวย 13,257.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,739.12 ล้านบาท หรือ 26.04%
และอันดับ 5 ได้แก่ ตระกูลปราสาททองโอสถ ซึ่งก้าวขึ้นจากอันดับ 9 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า หุ้นรวม 7,817.63 ล้านบาท จากการถือครองหุ้นของ นายแพทย์ปราเสริฐ และ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ใน 3 โรงพยาบาลชื่อดัง อย่าง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) และ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ซึ่งปีที่ผ่านมาราคาหุ้นของทั้ง 3 โรงพยาบาล ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ตระกูลปราสาททองโอสถ รวยขึ้นถึง 2,718.61 ล้านบาท หรือ 53.32%
ส่วนตระกูลชินวัตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ยังคงรวยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอันดับ 39 ในปีที่แล้ว ตกลงมาอยู่อันดับ 47 ในปีนี้ รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 1,690.09 ล้านบาท ลดลง 0.68% โดยลูกสาวคนโต พิณทองทา ชินวัตร และลูกสาวคนสุดท้อง แพทองธาร ชินวัตร ตกลงมาเป็นเศรษฐีหุ้นในอันดับ 108 ทั้งคู่ ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเซท (SC) ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 28.97% มูลค่า 799.72 ล้านบาท ส่วนเครือญาติอื่นได้ขายหุ้น SHIN ให้กับเทมาเส็กไปเมื่อต้นปี 2549
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit