ยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางไทย พัฒนาบุคลากรด้านแม่พิมพ์ ลดการนำเข้า

13 Dec 2007

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--iTAP

4 หน่วยงาน จับมือ จัดโครงการยกระดับเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางด้วยแม่พิมพ์ โดย iTAP ดึงผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐเข้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ยางแก่ผู้ประกอบการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษา หวังพัฒนาบุคลากรด้านแม่พิมพ์ และยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางไทย ตั้งเป้าระยะเวลาโครงการ 1 ปี ระบุ จะช่วยลดการนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศได้ปีละหลายร้อยล้านบาท

ปัจจุบันเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางด้วยแม่พิมพ์มีความสำคัญและส่งผลต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางโดยตรง ดังนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางและการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างถูกต้อง จะทำให้อุตสาหกรรมยางสามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยาง และลดต้นทุนในการผลิตลง ที่สำคัญยังเป็นการลดการนำเข้าแม่พิมพ์ยาง ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่พิมพ์ยาง ( Center of Excellence in Rubber Mould : CERM ) ภายใต้สถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดหลักสูตรการฝึกอบรมทางด้าน Rubber Mold และ Rubber Recycling ภายใต้ “ โครงการการยกระดับเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางด้วยแม่พิมพ์ ” ขึ้น เมื่อวันอังคารที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย และ นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะกำกับดูแลโครงการ iTAP กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการผลิตแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง การจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ผลิตแม่พิมพ์ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรด้านแม่พิมพ์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

“ เนื่องจากที่ผ่านมา การวิจัยและพัฒนาเรื่องยางของไทยส่วนใหญ่จะเน้นที่ตัววัตถุดิบหรือยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางเท่านั้น เพราะเดิมคิดว่าเรื่องของผลิตภัณฑ์นั้นสำคัญ แต่เราต้องเสียเงินปีละหลายร้อยล้านบาทเพื่อนำเข้าเทคโนโลยีแม่พิมพ์จากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมของไทย ดังนั้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมยางในประเทศ โครงการ iTAP จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านยางจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ Professor Avraam I. Isayev จาก The University of Akron ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ทางด้าน Rubber Molding , Rubber Recycling และ Rubber Injection Molding เข้ามาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความองค์ความรู้ทางด้านแม่พิมพ์ยาง และ Rubber Recycling รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการให้คำปรึกษาระยะสั้นแก่โรงงานผลิตภัณฑ์ยางของไทยในครั้งนี้ด้วย”

สำหรับเทคโนโลยี Rubber Recycling นั้น รศ.ดร.สมชาย กล่าวเสริมว่า ทางโครงการ iTAP และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่พิมพ์ยาง ได้เล็งเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากราคาวัตถุดิบยางพาราที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยี Rubber Recycling มาใช้ เพื่อนำยางที่ผ่านการผลิตแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น จีงได้จัดให้มีหลักสูตรดังกล่าวขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการยกระดับเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางด้วยแม่พิมพ์ มีระยะเวลาโครงการ 1 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 – สิงหาคม 2551 คาดว่า หลังเสร็จสิ้นโครงการจะสามารถสร้างผู้ผลิตแม่พิมพ์ยางเพิ่มขึ้นในประเทศ จากเดิมที่มีบุคลากรด้านนี้ไม่มากนัก และไม่สามารถผลิตแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนมากๆ ได้

ด้านนางวราภรณ์ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งชาติยางพารา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ในฐานะผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยยางยอมรับว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ยางพารามีปริมาณจาก 200,000 ตันในปี 2538 เพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ตัน ประกอบกับที่ผ่านมางานวิจัยส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างมูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เท่านั้น ขณะที่ศักยภาพด้านการผลิตแม่พิมพ์ของไทยยังอ่อนแอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางด้วยแม่พิพม์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะสนับสนุนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมยาง เชื่อว่า หากมีการพัฒนาแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมากขึ้น อนาคตอุตสาหกรรมยางของไทยก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ,ไต้หวัน , จีน และจากยุโรป อีกต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)

โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ114,115

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net