กทม. หารือสมาคมพิทักษ์สัตว์ หาแนวทางแก้ปัญหาสุนัขจรจัด

30 Oct 2007

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--กทม.

นายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมหารือร่วมกับสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) เกี่ยวกับกรณีความขัดแย้งระหว่างคนรักสัตว์กับข้อบัญญัติสุนัขและแมว โดยมีนายสมภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางวันทนีย์ วัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมรองปลัดฯ สิทธิสัตย์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ตามที่กรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของสุนัขต้องนำสุนัขไปจดทะเบียนและฝังไมโครชิพนั้น โดยในเบื้องต้นได้มีการให้บริการจดทะเบียนและฝังไมโครชิพให้กับสุนัข ในเขตกรุงเทพมหานครฟรี จำนวน 50,000 ชิ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากเจ้าของสุนัขเป็นจำนวนมาก และขณะนี้ประสบปัญหาเรื่อง การฝังไมโครชิพให้กับสุนัขจรจัด เนื่องจากในการฝังไมโครชิพให้กับสุนัขจะต้องมีผู้รับเป็นเจ้าของสุนัข แต่ขณะนี้ไม่มีผู้รับเป็นเจ้าของสุนัขจรจัด เพราะเกรงต้องรับผิดชอบในกรณีที่สุนัขทำร้ายผู้อื่น

จากกรณีดังกล่าวนายโรเจอร์ โลหนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มคนรักสัตว์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลให้อาหารกับสุนัขจรจัดเกี่ยวกับการนำสุนัขในความดูแลไปขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพที่ทางกรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ โดยกลุ่ม คนรักสัตว์ต้องทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครให้ข้อมูลกับทางการในกรณีที่สุนัขดังกล่าวทำร้ายผู้อื่น ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะได้ประสานงานกับกลุ่มดังกล่าวในการจับตัวสุนัขที่ทำร้ายคนต่อไป สำหรับการให้บริการฝังไมโครชิพให้กับสุนัขจรจัดนั้น หากทางกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทางสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) ยินดีให้ความช่วยเหลือในการนำทีมสัตวแพทย์จากคลินิกพิทักษ์สัตว์มาให้บริการดังกล่าวได้

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ประสานงานไปยังเขตต่างๆ เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้ประสานงานหรืออาสาสมัครผู้ดูแลสัตว์ทั้ง 50 เขต โดยในอนาคตอาจมีการเพิ่มจำนวนไมโครชิพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของไมโครชิพจะเป็นสุนัขจรจัด เพื่อให้สุนัขจรจัดเป็นสุนัขที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และเป็นการควบคุมจำนวนสุนัขในเขตกรุงเทพมหานครด้วย โดยนายสิทธิสัตย์ กล่าวถึง การควบคุมจำนวนสุนัขในอนาคตว่า จะมีการทำหมันให้กับสุนัขจรจัดและควรออกระเบียบเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์สุนัขบังคับใช้ในส่วนของฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัข ซึ่งจะต้องแจ้งให้ทางการทราบและนำสุนัขไปขึ้นทะเบียนฝังไมโครชิพก่อนการนำออกจำหน่าย เพื่อจำกัดจำนวนสุนัขที่จะเกิดขึ้นในอนาคต