กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สนพ.
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ช่วยผู้ประกอบการโรงงานกุนเชียงประหยัดต้นทุนค่าก๊าซหุงต้ม LPG มอบหมาย มจธ. เดินหน้าโครงการปรับปรุงเตาอบแห้งกุนเชียง นำร่องใน 4 โรงงาน ช่วยลดใช้ก๊าซหุงต้ม LPG ได้ถึง 60% เตรียมปรับปรุงเพิ่มอีก 4 โรงงาน ก่อนขยายทั่วประเทศ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร โดยเฉพาะ กุนเชียง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคค่อนข้างสูง โดยจากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการผลิตกุนเชียงทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศ พบว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 107 ราย และมีผลิตภัณฑ์กุนเชียงออกสู่ท้องตลาดวันละไม่น้อยกว่า 70 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้ตู้อบแห้งกุนเชียงที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้สิ้นเปลืองก๊าซหุงต้ม LPG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการอบแห้งจำนวนมาก คิดเป็นต้นทุนด้านพลังงานประมาณ 10% ของต้นทุนรวมทั้งหมด
นอกจากนี้กุนเชียงที่ได้จากตู้อบดังกล่าว มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เช่น สี และความชื้นของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อราคาขาย ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการที่เกิดจากราคาก๊าซหุงต้ม LPG กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้มอบทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำการศึกษาและปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการอบแห้งกุนเชียง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถแข่งขันในตลาดได้
รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มจธ. เปิดเผยว่า ทาง มจธ. ได้ทำการสำรวจเตาอบแห้งกุนเชียงทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเตาอบแห้งที่ผู้ประกอบการประกอบขึ้นเองอย่างง่ายๆ ทำให้มีประสิทธิภาพในเชิงความร้อนต่ำและสิ้นเปลืองพลังงาน จึงได้ทำการศึกษาและเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพของเตาอบแห้งกุนเชียง โดยหลักได้ปรับปรุง 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1) การใส่ฉนวนเพื่อลดความร้อนที่สูญเสียผ่านทางผนัง เนื่องจากพบว่าตู้เปล่าที่ไม่มีฉนวน ความร้อนที่สูญเสียผ่านผนังตู้สูงสุดถึง 46% 2) เพิ่มระบบควบคุมอุณหภูมิภายในตู้อบให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามต้องการ ลดการสูญเสียความร้อนที่มากเกินจำเป็น กรณีที่เตาให้ความร้อนภายในตู้ทำงานตลอดเวลา โดยระบบควบคุมอุณหภูมิจะช่วยตัดการทำงานของเตาแก๊สเมื่ออุณหภูมิสูงถึงค่าที่ตั้งไว้ และ 3) ทำช่องระบายอากาศของตู้ที่สามารถปรับขนาดได้ให้เหมาะสมกับการอบแห้ง เพื่อลดความร้อนที่สูญเสียไปกับการระบายที่มากเกินจำเป็นโดยเฉพาะช่วงท้าย ๆ ของการอบแห้ง ซึ่งพบว่าตู้ก่อนปรับปรุงความร้อนที่สูญเสียจากการไม่มีระบบควบคุมในข้อ 2 และข้อ 3 จะสูงถึง 37 – 68%
ดังนั้นจึงได้เข้าไปทดลองทำการปรับปรุงเตาอบแห้งของ 4 โรงงานนำร่อง ได้แก่ โรงงานกุนเชียงนวลจันทร์ จ.สกลนคร หจก.เจ.เอช เอกคลูซีฟ (กุนเชียงเจ๊ฮวง) จ.นครราชสีมา โรงงานกุนเชียงคุณสุ จ.นครราชสีมา และโรงงานกุนเชียงลิ้มไท้เชียง จ.นครราชสีมา แล้วเสร็จและเริ่มทดลองใช้งานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจและช่วยผู้ประกอบการสามารถลดการใช้พลังงานได้จริง
“ก่อนหน้าการปรับปรุงเตาอบแห้งกุนเชียง พบว่าโรงงานแต่ละแห่งมีอัตราการใช้ก๊าซหุงต้มต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์กุนเชียงประมาณ 0.11 - 0.13 กิโลกรัมแอลพีจี/กิโลกรัมกุนเชียง และภายหลังการปรับปรุงพบว่าสามารถลดการใช้ก๊าซหุงต้มเหลือเพียง 0.04 - 0.07 กิโลกรัมแอลพีจี/กิโลกรัมกุนเชียง คิดเป็น 60% หรือคิดเป็นเงินต้นทุนด้านพลังงานที่ลดได้ประมาณ 1.0 - 1.46 บาทต่อกิโลกรัมกุนเชียง โดยกุนเชียงที่ได้ยังคงมีคุณภาพเหมือนเดิม ทาง มจธ. เตรียมที่จะไปทำการปรับปรุงเตาอบแห้งกุนเชียงเพิ่มอีกใน 4 โรงงาน ได้แก่ โรงงานอาหารดีมีคุณ จ. ฉะเชิงเทรา โรงงานสมพรเฟรชพอร์ค และ โรงงานคุณทัศนะ จ.นครปฐม และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวิหารขาวสามัคคี จ.สิงห์บุรี ซึ่งทาง มจธ. จะเร่งเผยแพร่ข้อมูลและผลประหยัดให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจในการนำระบบดังกล่าวไปดำเนินการติดตั้งเพื่อลดการใช้พลังงานต่อไป” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit