กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สวทช.
“เอกชัย สาลี่สุพรรณ” เผยกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจด้วยการใช้ “เทคโนโลยี” ที่เหนือคู่แข่งขัน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ประกอบอยู่รอด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก ระบุมั่นใจเทคโนโลยีที่ได้จาก iTAP จะช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็วขึ้น ขณะที่ต้นทุนและการใช้แรงงานลดต่ำลง
ใครจะรู้ว่าจากร้านขนมเล็กๆ ที่เปิดขายมานานกว่า 30 ปีภายใต้ชื่อ “เอกชัย สาลี่สุพรรณ” จะสามารถสร้างตำนานความอร่อยของขนมสาลี่จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีไปในที่สุด และสามารถขยายกิจการเป็นศูนย์รวมของฝากจากสุพรรณบุรีในทุกวันนี้ ปัจจุบันสินค้ามีมากมายหลายชนิด และยังเป็นสินค้าที่ได้รับประกันความอร่อยจาก “เชลล์ชวนชิม” เช่น ขนมสาลี่ ขนมสาลี่ทิพย์ ขนมลูกเต๋า ขนมเปี๊ยะนมข้น ฯลฯ
นางพรพิมล แก้วศรีงาม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอกชัย สาลี่สุพรรณ จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของความอร่อย หอมหวาน นุ่มนวลของขนมสาลี่นี้ว่า เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2512 คุณแม่ได้ลงมือทำขนมขาย มีทั้งขนมเค้ก ขนมปัง ด้วยความที่เป็นคนขยันเรียนรู้จึงทดลองหัดทำขนมสาลี่โดยได้นำขนมสาลี่สูตรพื้นบ้านมาดัดแปลงให้ได้รสชาตินุ่มนวล มีสีสันสวยงาม ด้วยความตั้งใจจริง และยึดมั่นในคุณภาพความอร่อย กระทั่งในปี พ.ศ.2523 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ นำเรื่องขนมสาลี่ไปลงในคอลัมน์ "ถนัดศอชวนชิม" ในหนังสือฟ้าเมืองไทยพร้อมกับได้มอบเครื่องหมายรับประกันคุณภาพความอร่อย “เชลล์ชวนชิม” ซึ่งเป็นป้ายเกียรติยศป้ายแรก และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
จากนั้นในปี พ.ศ. 2525 จึงได้ย้ายมาเปิดร้านใหม่ที่ตึกแถว หน้าวัดปราสาททองและขยายตึกแถวไปอีกมาก ซึ่งในปัจจุบันยังคงเปิดขายอยู่ ระยะเวลากว่า 30 ปี จากร้านขนมเล็กๆ ขยายกิจการเปิดเป็นโรงงาน สู่อาคารทรงไทยบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ที่สร้างเป็นศูนย์รวมของฝากจากสุพรรณบุรี นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความมุ่งมั่นที่จะผลิตขนมสะอาด อร่อยและมีคุณภาพจากร้านเอกชัยสาลี่สุพรรณ
“ที่ผ่านมาเราตระหนักถึงความสำคัญในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก จึงกำหนดนโยบายคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ.2544 ด้วยการนำระบบ GMP (Good Manufacturing Practices) หรือหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่ดีในกระบวนการผลิตอาหารให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบคุณภาพต่อเนื่องคือ ระบบ HACCP : HAZARD Analysis Critical Control Point System หรือระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น” อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันถึงแม้จะไม่รุนแรงนัก แต่ในฐานะของผู้ประกอบการจำเป็นที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขอีกมาก เนื่องจากสภาพธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าแรงปรับขึ้นทุกปี เราจึงต้องปรับตัวตามตลอดเวลา ดังนั้นเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นอย่างมากเพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ปัจจุบันเราแข่งขันกันที่เทคโนโลยี ทำอย่างไรที่จะมีเทคโนโลยีที่เหนือคู่แข่งขัน และทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตลดลง เทคโนโลยีจึงถือเป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จในธุรกิจ
“เราต้องการให้ขนมสาลี่เป็นขนมของประเทศไทยไม่ใช่แค่ขนมของจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ยังติดปัญหาในเรื่องอายุของขนมที่สั้น ถ้าเราสามารถยืดอายุขนมออกไปนานขึ้นโดยมีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่ท้าทายน่าทดลองทำ”
กรรมการผู้จัดการกล่าวต่อว่า บริษัทฯจึงตัดสินใจขอรับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้กำกับของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของอายุผลิตภัณฑ์ที่สั้น ทำให้การจัดการยากและเสียเวลาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่จะมียอดสั่งซื้อเข้ามามาก เราต้องเพิ่มการผลิตให้สูงตามไปด้วย นั่นหมายถึงเราต้องมีแรงงานเสริมขึ้นมา 3-4 เท่า ซึ่งเป็นการยากที่จะหาแรงงานมาสำรองในช่วงดังกล่าวได้ นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องถามตัวเองว่าทำยังไงที่จะให้ขนมสาลี่และขนมอื่นๆ มีอายุการบริโภคที่ยาวนานขึ้น เพื่อให้การจัดการง่ายขึ้นและไม่ต้องมีแรงงานในโรงงานมากนัก
โครงการแรกที่ทาง iTAP เข้ามาสนับสนุนคือ “โครงการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมเปี๊ยะนมข้นและขนมลูกเต๋าแช่เยือกแข็ง” เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ โดยที่ผลิตภัณฑ์ยังคงมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งเราใช้วิธีการแช่เยือกแข็งด้วยเครื่องแบบลมเย็นและแบบแผ่น เป็นวิธีที่สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้อย่างน้อย 4 เดือน โดยที่คุณภาพหลังการอุ่นยังคงมีระดับที่ไม่แตกต่างก่อนการแช่เยือกแข็ง คาดว่าโครงการนี้จะผลิตออกมาได้ภายใน 1-2 ปีนี้
โครงการที่ 2 คือ “โครงการพัฒนา เครื่องมือผลิตขนมสาลี่” ซึ่งต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิตขนมสาลี่ให้เร็วขึ้น โดยจะพัฒนาเครื่องหยอดขนมสาลี่ และเครื่องลดอุณหภูมิขนมสาลี่หลังการนึ่ง ผลที่ได้ออกมาสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยในส่วนของเครื่องหยอดขนมสาลี่นั้นสามารถหยอดขนมก่อนการนึ่งได้ในปริมาณที่ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น เพราะขนมที่หยอดหากมีปริมาณที่ไม่ถูกต้องจะมีผลต่อขนมสาลี่ที่ได้หลังการนึ่ง สำหรับเครื่องลดอุณหภูมิของขนมสาลี่ทำให้สามารถดำเนินการผลิตในขั้นตอนนี้ได้ในระบบปิด ซึ่งเดิมนั้นตั้งทิ้งไว้ข้างนอก ทำให้มีโอกาสปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้ทุกครั้ง คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้จะนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ได้
โครงการที่ 3 คือ “โครงการนึ่งขนมสาลี่” เนื่องจากบริษัทฯ ต้องการขยายสายการผลิตขนมสาลี่เพื่อรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมสาลี่รูปแบบใหม่ๆ ประกอบกับก๊าซหุงต้มมีราคาสูงขึ้น จึงสนใจที่จะใช้ระบบไอน้ำแรงดันสูงในการผลิตแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ดำเนินการคัดเลือกขนาดของ boiler และวางระบบท่อไอน้ำในโรงงาน ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ บริษัทฯได้ข้อมูลสำหรับการเลือกระบบกำเนิดไอน้ำ ตลอดจนการเลือกขนาดท่อและการวางท่อที่เหมาะสมสำหรับกำลังการผลิตในปัจจุบันและภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งการใช้ไอน้ำในการผลิตนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและมีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม
และโครงการที่ 4 คือ “โครงการยืดอายุการเก็บรักษาของขนมโมจิไส้เผือกผสมแห้วและมีลูกเกดสีเหลืองประดับ” เนื่องจากขนมโมจิ (ขนมเปี๊ยะนมข้น) เป็นขนมสดที่มีอายุการเก็บสั้นมาก ประมาณ 3-4 วัน บริษัทฯ จึงต้องการหาแนวทางในการยืดอายุขนมเพื่อให้เก็บรักษาได้นานขึ้น โดยจะใช้วิธีปรับสูตรขนมและอาจเกี่ยวข้องกับการปรับกระบวนการผลิต ซึ่งผลที่ได้นั้นสามารถยืดอายุขนมได้นานขึ้นเป็น 15 วัน โดยคงเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เดิมทุกประการ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนายืดอายุให้ได้นานถึง 60 วัน
“ขณะนี้โครงการ iTAP กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว เมื่อเกิดปัญหาจะนึกถึง iTAP ก่อนใคร เพราะสามารถปรึกษาได้ทันทีจากทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถ้าวันนี้เราไม่มี iTAP เราก็จะไม่มีวันนี้เช่นกัน ผลดีที่เราได้รับคือเรามียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ”
ด้านการตลาดนั้น ปัจจุบันในจังหวัดสุพรรณบุรีเรามีทั้งหมด 3 สาขา และได้มีการขยายตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายสินค้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เราพร้อมการบริการด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าระยะยาว รวมถึงการดูแลและแก้ไขปัญหาลูกค้าอย่างจริงจัง ซึ่งสินค้ามีวางจำหน่ายอยู่ตามจุดท่องเที่ยว และแหล่งชุมชนในจังหวัดต่างๆ เช่น นครสวรรค์ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ชลบุรี อยุธยา กรุงเทพฯ เป็นต้น อนาคตบริษัทฯ ต้องการขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ ทั้งสินค้าที่ผลิตตามปกติ และสินค้าตามเทศกาล หรือเพื่อรับสินค้าไปออกร้านในงานต่างๆ นางพรพิมลกล่าวในที่สุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit