กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
“ไก่พื้นเมือง” คือไก่ที่เลี้ยงทั่วไปในชนบทซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยมาเป็นเวลาช้านาน เป็นแหล่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของไก่ในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นทำให้เกิดแนวทางในการอนุรักษ์ และพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าไก่พื้นเมืองของไทย
รศ.ดร.เกรียงไกร โชประการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ประสานงานวิจัยชุดโครงการ การพัฒนาไก่พื้นเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า “การสร้างพันธุ์ไก่พื้นเมืองไทย”เป็นโครงการวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมี นางอุดมศรี อินทรโชติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์กบินทร์บุรี กรมปศุสัตว์เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้เป็นฝูงพื้นฐานหรือต้นน้ำเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์ต่อไป
ผลการวิจัยจากโครงการสร้างพันธุ์ไก่พื้นเมือง ทำให้ได้ไก่พื้นเมืองจำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ ไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำสายพันธุ์เชียงใหม่ ไก่พื้นเมืองพันธุ์เหลืองหางขาวสายพันธุ์กบินทร์บุรี ไก่พื้นเมืองพันธุ์แดงสายพันธุ์สุราษฏร์ธานี และไก่พื้นเมืองพันธุ์ชีสายพันธุ์ท่าพระ ไก่ทั้ง 4 ฝูงมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ โดยมีหลักฐานทางวิชาการรองรับซึ่งพร้อมสำหรับจดทะเบียนรับรองพันธุ์จากกรมปศุสัตว์และนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆที่สำคัญคือ ทำให้ได้คุณสมบัติของไก่พื้นเมืองที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้สำหรับเกษตรกร ได้แก่ความสามารถของการอยู่รอดในสภาพชนบทและความเป็นแม่ที่ดีของไก่พื้นเมือง ส่วนคุณสมบัติที่ดีเด่นสำหรับภาคอุตสาหกรรมคือคุณภาพเนื้อ
รศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้ กระจายสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองดังกล่าว ไปตามศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ ต่างๆ เพื่อผลิตและสนับสนุนให้กับเกษตรกรทั่วประเทศและภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทเกษตรฟาร์ม ฟาร์มไก่พันธุ์ 111 และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 100,000 ตัว นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ.2549 สกว.ได้ร่วมทุนวิจัยกับกรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ นำบางส่วนของฝูงต้นน้ำไปพัฒนาต่อเพื่อให้ได้สายพ่อพันธุ์พื้นเมืองชั้นยอดที่มีความพร้อมสำหรับผลิตไก่ลูกผสมที่ดี(General combining ability) ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระจายพันธุ์สู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในปี พ.ศ. 2553 นี้
ประโยชน์ที่ได้จากชุดโครงการการพัฒนาไก่พื้นเมืองที่สำคัญคือ ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากไก่พื้นเมืองให้กับประเทศ เกษตรกรที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองจำนวน 6 ล้านครอบครัวจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 % จากการใช้ไก่พ่อพันธุ์พื้นเมืองนี้ภายใต้การเลี้ยงระบบเดิม คิดเป็นมูลค่าโดยรวมที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้นทำให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ทั้งนี้เพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้า พ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศทั้งหมดเพื่อใช้สำหรับผลิตลูกไก่เนื้อ
รศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านไก่บ้านไทยนั้นมีความเป็นมาคือ เป็นไก่ที่เกิดจากการนำพ่อพันธุ์ไก่พื้นเมือง กับ แม่พันธุ์จากต่างประเทศ มาผสมกันทำให้ได้ “ไก่บ้านไทย” ที่มีคุณภาพเนื้ออันโดดเด่นและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีเส้นใยกล้ามเนื้อละเอียด (Fine texture) และกลิ่นรสเฉพาะตัว (Flavor) อีกทั้งยังมีรสชาติถูกปากผู้บริโภค มีความนุ่มแน่น เปอร์เซ็นต์โปรตีนและสัดส่วนระหว่างกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่อกรดไขมันอิ่มตัวในเนื้อสูง คลอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ด้วยคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ ทำให้ สกว.ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างกรมส่งเสริมการส่งออก ชมรมผู้ผลิตและผู้ค้าไก่บ้านไทย เปิดตัวผลผลิตจาก “ไก่บ้านไทย: GAI BAAN THAI” ในงานนิทรรศการอาหารนานาชาติที่ประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 ทำให้มั่นใจได้ว่าตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเปิดกว้างสำหรับ “เนื้อไก่บ้านไทย”และคาดว่าจะทำให้การผลิตไก่บ้านไทยเพิ่มขึ้นจากปีละ 10 ล้านตัวเป็น 2 เท่า ในระยะ 5 ปี รศ.ดร.เกรียงไกร กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit