กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สำนักงานกิจการยุติธรรม
นักวิชาการแนะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทำสถิตินักโทษเชื่อมโยงข้อมูล ติดตามประเมินผล และสื่อสารให้ประชาชนทราบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น “ปล่อยคนดีสู่สังคม” ตัวเลขราชทัณฑ์ระบุผู้ต้องขังกว่า 1.7 แสนคน มากกว่า 86% ไม่ได้ชั่วร้ายโดยนิสัย ทำผิดพลาดพลั้งยังสามารถแก้ไขให้เป็นพลเมืองดีได้ ก.ยุติธรรมเร่งร่างกฎกระทรวง กำหนดสถานที่และหลักเกณฑ์การขัง จำคุกนอกเรือนจำที่เหมาะสม เน้นการลงโทษควบคู่แก้ไข
จากการสัมมนาเรื่องการขังและจำคุกนอกเรือนจำ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม(สกธ.) กระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นเพื่อหามาตรการการปฏิบัติในการควบคุมผู้ต้องขังนอกเรือนจำ โดยมีประเด็นสำคัญคือการหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการขังและจำคุกนอกเรือนจำที่เหมาะสมกับสภาพผู้ต้องขัง ซึ่งประกอบด้วยคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกแรกเกิดถึงผู้สูงอายุ โดย
รศ.พงษ์กฤษณ์ มงคลสินธุ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พัฒนาการกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาเน้นการลงโทษมากกว่าแก้ไข จึงทำให้เกิดปัญหานักโทษแออัดและในที่สุดแล้วก็ต้องมีการระบายหรือปล่อยนักโทษออกมา โดยยังขาดการสื่อสารให้สังคมเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและในตัวผู้ต้องขังที่ออกมาสู่สังคม สังคมไทยควรมีการเก็บสถิติผู้ต้องขังของหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อจะได้ทราบเส้นทางหรือพัฒนาการที่เป็นไปของผู้ต้องขังว่าออกไปแล้วไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร ทำผิดซ้ำหรือไม่ ต้องมีการเก็บ รวมรวม ติดตาม ประเมินผล และสื่อสารกับประชาชนหรือสังคมอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดความเข้าใจในวงกว้างสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในสังคมได้และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง/นักโทษที่ไม่ได้ทำผิดโดยสันดานหรือเป็นนิสัย ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงให้เป็นพลเมืองดีได้ได้ออกมาสู่สังคมและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นชัดเจนคือการลงโทษมีลักษณะที่มีความทารุณโหดร้ายลดลง ส่วนของการแก้ไขก็จะมีมาตรการต่าง ๆ หลากหลายยิ่งขึ้นเช่น การศึกษา การฝึกอาชีพ การอนุญาตให้ออกไปทำงาน การอบรมศีลธรรม ฯลฯ ให้แก่ผู้กระทำผิดหรือนักโทษ
รศ.พงษ์กฤษณ์ เสนอว่า สำหรับสถานที่เพื่อการขัง จำคุกนอกเรือนจำ เช่น โรงพยาบาลสำหรับผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยซึ่งอาจตั้งขึ้นเฉพาะ หรืออาจแยกเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป หรือกรณีพวกโรคติดต่อร้ายแรงก็อาจต้องมีสถานกักกันโรค ศูนย์บำบัดสำหรับผู้ต้องขังยาเสพติด หรือมีพฤติกรรมภาวะโรคทางจิต รวมทั้งการมีศูนย์ส่งกลับสำหรับนักโทษต่างด้าว เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องลงทุน โดยคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน และความเหมาะสมทางสังคม ทางออกที่พอจะเป็นไปได้คือการเอาคนรวยมาแชร์ให้คนจน เช่น อาจจะสร้างศูนย์ระบบการควบคุมด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) ขึ้นมาแล้วเก็บเงินกับคนมีฐานะ แล้วให้คนจนใช้บริการได้ด้วย เป็นต้น
รศ.พงษ์กฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามาตรการนี้จะสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ให้คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าไม่มีมาตรการอย่างนี้ ไม่มีกฎหมายนี้ออกมาก็ปล่อยนักโทษอยู่ดี ดังนั้นจะปล่อยโดยไม่ต้องมีที่ขังพิเศษ หรือจะปล่อยออกไปเลยเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อันไหนปลอดภัยกว่ากัน ตนคิดว่าการมีอะไรมารองรับก็ยังดีกว่าปล่อยออกไปเลย
ด้านน.ส.เพลินใจ แต้เกษม หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบด้านอาชญาวิทยา กรมราชทัณฑ์ กล่าว การขังและจำคุกนอกเรือนจำถือเป็นมิติใหม่ ของกระบวนการยุติธรรมที่ให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ออกไปถูกควบคุมอยู่นอกเรือนจำ นั่นเท่ากับว่าเรือนจำไม่ได้เป็นมาตรการเดียวที่จะใช้เพื่อการแก้ไขผู้กระทำผิด ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังถึงกว่า 170,00 คน ในขณะที่ความจุของเรือนจำรองรับได้ 80,000 คน ทำให้เกิดปัญหาความแออัด และไม่สามารถให้การแก้ไขผู้ต้องได้ทุกคน ในจำนวนนี้ก็ประกอบด้วยคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยกลุ่มใหญ่คือวัยผู้ใหญ่จำนวนกว่า 90,000 คน แต่ส่วนที่เหลือทั้งหญิงมีครรภ์ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนป่วย ผู้ติดยาเสพติด และคนวิกลจริต ล้วนเป็นปัญหาและภาระในการดูแลซึ่งยังไม่มีสถานที่และบุคลาการดูแลอย่างเพียงพอ
หากดูจากสถิติจะเห็นว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่แก้ไขได้ ทำผิดโดยประมาทพลาดพลั้ง รู้เท่าไม่ถึงการณ์มีถึง 86.02 % ส่วนคนที่ทำผิดซ้ำซากหรือทำผิดเป็นนิสัยมีอยู่ 12-13 % เท่านั้น ขณะที่สัดส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกับจำนวนผู้ต้องขังเกินมาตรฐานไปมาก กล่าวคือ มาตรฐานสากล 1 ต่อ 5 คน แต่มาตรฐานของสำนักงาน ก.พ.กำหนดไว้คือ 1 ต่อ 10 แต่ในความเป็นจริงคือ 1 ต่อ 28 คน กรมราชทัณฑ์จึงมีวิธีการทำงานหลายลักษณะที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง ควบคุมด้วยใจ แก้ไขด้วยเมตตามุ่งพัฒนาสู่สังคม ทำให้มีสถิติการหลบหนีมีน้อยมากเพียง 0.02% ซึ่งกรมราชทัณฑ์ระมัดระวังและรอบคอบในการดูแลผู้ต้องขัง โดยสถานที่ในการควบคุมผู้กระทำผิดของกรมราชทัณฑ์แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ เรือนจำ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สถานกักกัน สถานกักขัง สถานที่เพื่อการควบคุมตัวและการตรวจพิสูจน์
จากการศึกษาวิจัยมาตรการป้องกันการหลบหนีของผู้ต้องขัง โดยสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่หลบหนีไปแล้วตามตัวกลับมาได้ พบว่าสาเหตุที่หลบหนีเพราะเขาเกิดความเครียด ปรับตัวไม่ได้กับสภาพของเรือนจำ รวมทั้งได้รับข่าวร้ายจากทางบ้านทำให้รู้สึกกดดันเมื่อสบช่องโอกาสจึงคิดหลบหนีทันที รวมทั้งมีความกังวลกับปัญหาทางบ้าน นอกจากนั้นยังเกิดจากเจ้าหน้าที่ประมาท ด้อยประสบการณ์ หรือไว้วางใจผู้ต้องขังมากเกินไป มาตรการป้องกันการหลบหนีของกรมราชทัณฑ์คือ การต้องเรือนจำต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวัง เสริมความมั่นคงแข็งแรงในการป้องกัน ไม่ให้มีจุดที่ผู้ต้องขังจะสามารถหลบหนีออกไปได้
นายวัลลภ นาคบัว ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2550 เพื่อปรับปรุงวิธีการขังและจำคุก โดยกำหนดวิธีการหรือสถานที่ในการขังหรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ต้องขัง รวมถึงการปรับปรุงการทุเลาการบังคับโทษจำคุก โดยในมาตรา 89/1 เป็นกรณีของผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณา ให้ศาลอาจสั่งให้ถูกควบคุมในสถานที่อื่นนอกเรือนจำได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุม และมาตรา 89/2 เป็นกรณีผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาและรับโทษไปแล้ว 1 ใน 3 ศาลอาจสั่งให้จำคุกในสถานที่อื่นได้ หรือให้จำคุกเฉพาะวันที่กำหนด หรือกำหนดวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ต้องจำคุกได้ ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมในการควบคุม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจำคุกเฉพาะวัน และการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ต้องจำคุกด้วย ทั้งนี้สำนักงานกิจการยุติธรรมจะได้นำข้อมูลจากการสัมมนาดังกล่าวประกอบการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงของกระทรวงยุติธรรม เพื่อใช้ได้จริงต่อไป.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit