กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สสวท.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าพระธาตุ จอมกิตติที่จังหวัดเชียงราย พบยอดเจดีย์หัก และเกิดรอยร้าวหลายจุด พื้นที่ตึกสูงในกรุงเทพมหานครก็รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชน
ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการกำหนดเนื้อหาทางธรณีวิทยา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอยู่ในสาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ยังมีปัญหาก็คือครูผู้สอนขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง สสวท. จึงได้จัดทำข้อมูลทางธรณีวิทยาในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งเอกสารและซีดีรอม จัดทำหลักสูตรอบรมครู และจัดอบรมครูร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และอบรมครูทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อสนับสนุนและพัฒนาครูดังกล่าว
ธรณีวิทยา เป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโลกและสสารต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโลก เช่น แร่ หิน ดินและน้ำ รวมทั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในโลกที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงปัจจุบัน เป็นการศึกษาทั้งในระดับโครงสร้าง ส่วนประกอบทางกายภาพ เคมี และชีววิทยา ทำให้รู้ถึงประวัติความเป็นมาและสภาวะแวดล้อมในอดีตจนถึงปัจจุบัน ศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นผิว วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนรูปแบบและวิธีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ในส่วนของแผ่นดินไหวนั้นเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ภายในชั้นเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้างของโลก ซึ่งมีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง โดยมากทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน รอยแยกบนพื้นดิน คลื่นสึนามิ เขื่อนพัง แผ่นดินถล่ม อัคคีภัย การรั่วไหลของวัสดุอันตราย ฯลฯ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหาย และการสูญเสียชีวิตคนได้ อาจารย์ภักดี รัชตวิภาสนันต์ ครูในโครงการเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เจ้าของรางวัลครูแห่งชาติ
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำปี 2542 ปัจจุบันเป็นครูวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยาที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ได้เล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวว่า “แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 เวลาประมาณ 15.45 น. ขณะนั้นกำลังนั่งประชุมอยู่กับเพื่อนครู ทุกคนรู้สึกและร้องออกมาเกือบพร้อมกันว่า แผ่นดินไหวเบา ซึ่งมีนักเรียนที่อยู่บนอาคารชั้นที่ 4 บอกว่ารู้สึกได้ดีเลยว่าเกิดแผ่นดินไหว และในเย็นนั้นได้ทราบข่าวทางโทรทัศน์รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวมีขนาด 6.1 ริกเตอร์มีจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณระหว่างประเทศลาว และไทย จึงได้เก็บข้อมูลไว้สำหรับที่จะใช้สนทนาก่อนเข้าสู่การเรียนการสอนในวันรุ่งขึ้น”
ขณะเดียวกัน คุณครูภักดีได้ค้นหาแผ่นซีดีของ National geography ที่อธิบายถึงการเกิดแผ่นดินไหว และการเตรียมการเพื่อรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอาคารบ้านเรือน สำหรับให้นักเรียนอภิปรายในห้องเรียนถึงการเกิด องค์ประกอบ และการเกิดคลื่นแผ่นดินไหว การเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางการเกิดถึงบริเวณที่อยู่อาศัยของคน และได้นำภาพการสาธิตแสดงการแกว่งของอาคารที่มีความสูงต่างกันที่ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ให้นักเรียนได้เรียนรู้อาจารย์ภักดีแนะนำว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ครูควรมีแนวทางในการนำเหตุการณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้านธรณีวิทยาให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและเกิดความตระหนัก ดังนี้
เมื่อทราบว่าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการบันทึกจากรายงานข่าวให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นทางการรายงานของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้นทุนของขอมูลสำหรับที่จะใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้ และกำหนดกิจกรรมก่อนการเรียนการสอนในภาวะปกติ ทั้งนี้เป็นการสร้างจิตวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน ในการที่จะติดตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และสามารถที่จะอธิบายให้กับตนเองและผู้อื่นได้เข้าใจ
กำหนดกิจกรรมโดยใช้คำถาม ถามนักเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วให้นักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับแผ่นดินไหว หากนักเรียนไม่สามารถตั้งคำถามได้ครูจะต้องเตรียมจุดคำถามที่จะใช้ถามนักเรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และนำภาพจากหนังสือพิมพ์ หรือเหตุการณ์การรายงานข่าวที่อัดเก็บไว้ในรูปของวีดิโอ ซีดี ให้นักเรียนได้ดูโดยที่ครูใช้ไม่ต้องอธิบายหรือชี้แจง เมื่อนักเรียนดูจบแล้วจึงนำการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การตอบคำถามที่ตั้งไว้ในตอนแรก
เด็ก ๆ สร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยครูใช้คำถามว่า แล้วเราจะมีเครื่องมืออะไรที่ช่วยทำให้เราทราบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วครูก็ให้นักเรียนนำลวดแข็งยาว 20 เซนติเมตร ซึ่งครูเตรียมล่วงหน้าแล้ว แจกกลุ่มละ 1 เส้น ให้งอเป็นรูปตัว า
จากนั้นนำเส้นด้ายผูกติดกับลูกตุ้มมัดไว้ที่ ปลายด้านสั้น แล้วตั้งตรงเสียบลงบนดินน้ำมันที่ปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม วางไว้บนโต๊ะ แล้วลองให้นักเรียนทุบโต๊ะเบา ๆให้เกิดการสั่นแล้วสังเกตการแกว่งของลูกตุ้ม ก็จะพบว่านักเรียนได้เครื่องมือวัดแผ่นดินไหวอย่างง่ายแล้ว จากนั้นมอบหมายให้นักเรียนที่สนใจนำเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวอย่างง่ายไปปรับปรุงให้แข็งแรงสวยงามตามความคิดของนักเรียน
จากนั้นถามนักเรียนต่อว่าจากภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ได้ดู คนที่อยู่ในเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวเข้าปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง ให้นักเรียนช่วยกันอภิปรายและสรุป
นอกจากนั้นอาจารย์ภักดียังได้กล่าวว่า “ครูผู้สอนสามารถโยงมาสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า การเกิดแผ่นดินไหวและเรารู้สึกได้ คนกรุงเทพที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวถึง 700 กิโลเมตรก็ยังรู้สึก แสดงว่า แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวแล้ว และทางภาคเหนือ ของไทยก็มีรอยเลื่อนมากมาย ที่ยังมีพลังอยู่ ลำปางก็มีรอยเลื่อนวังชิ้น รอยเลื่อนเถินดังนั้น ลำปางก็มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน”
ท้ายสุด ครูถามนักเรียนด้วยคำถามที่ทิ้งให้นักเรียนได้คิดค้นหาความรู้ต่อยอดว่า นักเรียนควรทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากการเกิดแผ่นดินไหวหากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ลำปางหรือใกล้เคียง ?
ผศ. ดร. วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ อดีตนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจบปริญญาโท-เอกด้านธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (Oregon State University) สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเรียนรู้และเข้าใจในธรณีวิทยาจะช่วยให้นักเรียนสนใจในวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ธรณีวิทยาเท่านั้น เพราะนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนจากฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยามาใช้ในทางปฏิบัติได้โดยตรง ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกหรือใต้พื้นโลก ส่งเสริมให้เกิด การเรียนการสอนแบบบูรณาการ
ผศ. ดร. วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ยกตัวอย่างการสอนวิทยาศาสตร์ที่หยิบยกปรากฏการณ์แผ่นดินไหว มาใช้สอนในชั้นเรียน คือ การสอนเรื่องคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งการสอนเรื่องคลื่นในบทเรียนนั้นมักพูดถึงเฉพาะ คลื่นเสียง คลื่นน้ำ และคลื่นแสง แต่คลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็นคลื่นภายในและคลื่นพื้นผิว
โดยคลื่นภายในยังแบ่งได้อีกเป็นคลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิ โดยคลื่นปฐมภูมิเคลื่อนที่คล้ายกับคลื่นเสียงคือ เป็นคลื่นตามยาว ส่วนคลื่นทุติยภูมิเคลื่อนที่คล้ายกับคลื่นแสง ส่วนคลื่นพื้นผิวจะเคลื่อนที่คล้ายกับคลื่นผิวน้ำ
ในการสอนเรื่องดังกล่าวนักเรียนจะได้รู้ว่า คลื่นภายในเป็นคลื่นที่เคลื่อนที่ไปยังทุกหนทุกแห่งบน พื้นโลก โดยเคลื่อนที่ผ่านภายในโลก นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของไทย แต่กรุงเทพ ซึ่งอยู่ห่างกว่า 800 กิโลเมตร ก็ยังรู้สึกได้ หรือแม้แต่ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรก็สามารถรับรู้ได ส่วนคลื่นพื้นผิวจะเคลื่อนที่เฉพาะที่พื้นผิวโลกและมักเป็นคลื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ มักเคลื่อนที่ได้เฉพาะใกล้ๆ กับศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เช่น แผ่นดินไหวประมาณ 6 ริกเตอร์ คลื่นพื้นผิวมักเคลื่อนที่และก่อให้เกิดความเสียหายได้ในระยะ 500 กิโลเมตรห่างจากศูนย์เกิดแผ่นดินไหว แต่จะเกิดความเสียหายมากในบริเวณที่ใกล้กับศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งครูสามารถยกตัวอย่างได้จากเหตุการณ์จริงที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ
นอกจากนั้น นักเรียนควรได้เรียนรู้ถึงขนาดวัดแผ่นดินไหวที่มีหน่วยวัดว่า ริกเตอร์ หน่วยวัดนี้เป็นหน่วยวัดที่วัดพลังงานการปลดปล่อยพลังงานของคลื่น โดย 1 ริกเตอร์ที่แตกต่างกันจะมีพลังงานที่แตกต่างกันถึงประมาณ 30 เท่า นั่นคือ แผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์จะมีพลังงานมากกว่าแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ถึง 30 เท่า ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์มีพลังงานใกล้เคียงกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเกาะฮิโรชิมาและอีกเรื่องหนึ่งที่นักเรียนควรได้เรียนรู้ คือ การเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อน นักเรียนสามารถเรียนรู้รอยเลื่อนชนิดต่างๆ ได้จากสื่อการสอนของครู และภาพจำลองต่าง ๆ ที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการได้ไปเรียนรู้นอกสถานที่
ทั้งนี้ เรื่องราวเนื้อหาที่นำไปสอนจะไม่ยากจนเกินไปนัก และนักเรียนสามารถเรียนรู้อย่างสนุกได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการและเทคนิคการสอนของครูว่าการเชื่อมโยงเนื้อหาแผ่นดินไหวเข้ากับเรื่องใด ๆ ได้บ้างที่จะเหมาะกับอายุและช่วงชั้นของเด็กการนำประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคมมาเชื่อมโยงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใกล้ ๆ ตัว ก็จะชี้ให้นักเรียนได้ตระหนักว่า “เราจะเรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม” เพราะวิทยาศาสตร์ช่วยตอบคำถามให้หายสงสัยได้ ทำให้รู้ที่มีที่ไปของเรื่องที่เราสนใจ และช่วยให้เราได้เรียนรู้วิธีที่จะป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นใกล้ตัวเรา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit