ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ “ แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าแชมป์ ในการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยรอบชิงชนะเลิศ

05 Jun 2007

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี

ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น (Jack-O-Lantern)” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคว้าแชมป์ในการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ภาควิชา เมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยทีมชนะเลิศ ได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมสังเกตการณ์ การแข่งขัน Urban Challenge ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้

ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ทีมแอโรโทรนิคส์ วัน (Aerotronix I) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท

ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ทีมดาร์ค ฮอร์ส (Dark Horse) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท

ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ได้แก่ทีมเรียล (Real) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท

ทีมรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ได้รับรางวัลศิลปะยอดเยี่ยมได้แก่ทีมบาร์ท แล็บ เวฮิคูลัม (BART LAB Vehiculum) จากมหาวิทยาลัยมหิดล รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท

การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ ใน การแข่งขันรอบคัดเลือกเมื่อเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ผู้เข้าแข่งขัน จำนวน 16 ทีม จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้พัฒนารถอัจฉริยะที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ปราศจากคนขับทั้งโดยตรง หรือแบบบังคับทางไกล โดยมี 9 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

การพัฒนารถอัจฉริยะเป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสตร์ด้านการทำงานอัตโนมัติ กับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์ รถอัจฉริยะที่สร้างขึ้นจะต้องสามารถเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางที่กำหนดให้และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถแบ่งแยกถนนออกจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และบังคับรถให้วิ่งบนถนนได้

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โจทย์ในการแข่งขันจะยากกว่าในรอบคัดเลือก โดยรถอัจฉริยะทั้ง 9 คันจะต้องสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางตลอดจนปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรต่าง ๆ ได้ รถอัจฉริยะที่เคลื่อนที่ได้ระยะทางไกลที่สุด เร็วที่สุด จะเป็นทีมชนะเลิศ

รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า “การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการทำโครงการรถอัจฉริยะและเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์การพัฒนารถอัจฉริยะในระดับนานาชาติ”

วัตถุประสงค์หลักของการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยคือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์

นายเจฟฟรีย์ ดี ไนการ์ด รองประธานปฏิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ซีเกทให้การสนับสนุนการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่มีความท้าทายและโดดเด่นที่สุดแห่งปี บริษัทซีเกทมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยนำทฤษฏีที่ได้เรียนรู้ ในห้องเรียน มาปรับใช้ในการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับ โดยใช้ศาสตร์ด้านการทำงานอัตโนมัติ ผสมผสานกับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์มาสร้างรถอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จ “การแข่งขันครั้งนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย โดย การส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนเหล่านี้ เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไป”

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะเป็นการแข่งขันพัฒนารถไร้คนขับให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ให้ไกลที่สุดและปฏิบัติตามกฎจราจรมากที่สุด “การแข่งขันนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีศักยภาพในการจัดการแข่งขันเช่นนี้ได้ “ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทางคณะกรรมการมีความหนักใจในการตัดสินเนื่องจากทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ล้วนมีฝีมือและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทั้งทางด้านหุ่นยนต์และยานยนต์ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้จริง ในแนวทางของตนเอง แต่ละทีมมีจุดแข็งต่างกันไปแต่มุ่งให้ไปถึงเป้าหมายเดียวกัน ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จน่าพอใจมาก ซึ่งในปีต่อไปผู้จัดคาดหวังว่าจะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่านี้”

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2218-6956 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

บริษัทซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย สำหรับองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และการผลิต ระดับโลกเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทมีความมุ่งมั่น ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและพบข้อมูลซีเกทที่ www.seagate.com

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ โทรศัพท์ 0-2715-2919, 081-835-8094

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net