กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กทม.
กทม. เข้ม กำหนด 9 มาตรการความปลอดภัยดูแลนักเรียนในสังกัด ป้องกันเหตุ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครอง พร้อมดึงโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำแผนให้เหมาะสม ป้องกันอันตราย การล่วงละเมิด และอุบัติภัย อย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพด้านความปลอดภัยในเด็ก
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงถึง 9 มาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้อนรับเปิดเทอม ปีการศึกษา 2550 ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครกำหนดแนวทางชัดเจน เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครองในการดูแลของบุตรหลาน โดยกทม. จะกำชับไปยัง 435 โรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการตามกรอบมาตรการทั้ง 9 ข้ออย่างเข้มงวดและปรับแผนให้เหมาะสมกับปัญหาหรือสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
ทั้งนี้นอกจากนโยบายโครงการเรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพแล้ว กทม. ยังได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมอบหมายให้สำนักการศึกษา กทม. กำหนดแนวทางที่เป็นระบบ 9 แนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นกรอบให้ทุกโรงเรียนวางแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า ร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนรอบโรงเรียนในการเฝ้าระวังความปลอดภัย สำรวจสภาพแวดล้อม และจุดเสี่ยงภัย ตลอดจนซักซ้อมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ผู้ปกครองและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือโรงเรียนและดูแลนักเรียนให้ปลอดภัย นอกจากนี้ในแผนดังกล่าวยังได้กำชับให้ดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่อย่างใกล้ชิด เช่น ราวกันตก สนามเด็กเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว และห้องอาหาร รวมถึงการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดในช่วงเช้าและเย็นดูแลทั้งด้านการจราจรและความปลอดภัย ด้วย
สำหรับ 9 มาตรการเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียน ได้แก่ 1. กำหนดให้เรื่อง “ความปลอดภัยของนักเรียน” เป็นนโยบายสำคัญ ของโรงเรียน 2. ดำเนินการเรื่อง “ความปลอดภัยในโรงเรียน” ร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง 3. กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนที่ชัดเจน 4. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีตัวแทนของครูและผู้ปกครองร่วมตรวจสอบปีละ 4 ครั้ง 5. จัดให้มีหลักสูตร “จิตสำนึกความปลอดภัย” ในโรงเรียนและกิจกรรมการศึกษาที่ปลอดภัย (safe study activities) รวมทั้งกำหนดมาตรการความปลอดภัยที่นักเรียนพึงปฏิบัติ และกำกับให้มีการปฏิบัติจนเป็นกิจนิสัย 6. จัดให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี กำหนดให้มีโครงการป้องกัน ยาเสพติด และพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน 7. จัดให้มีความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน 8. กำหนดการเดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี (safe route school) มีความปลอดภัยจากการจราจร 9. มีการบันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit