กระทรวงวิทย์ฯ หนุนผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัว “แบรนด์ไทย” สู้ตลาดโลก ชี้ 3 ประสาน วิศวกร ดีไซเนอร์ นักการตลาด

10 May 2007

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กระทรวงวิทย์ฯ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุสร้างธุรกิจผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัว “แบรนด์ไทย” ให้ยืนในตลาดโลก ต้องปั้นดีไซเนอร์ นักการตลาด คู่กับวิศวกรสมองกลฝังตัว ด้าน สมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ชี้ดีไซเนอร์ไทยศักยภาพสูงแต่ขาดโอกาส และตลาด

ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกขาดบุคลากรด้านสมองกลฝังตัว (Embedded System) เป็นจำนวนมาก ประกอบกับขาดการทำงานเป็นทีมเวิร์คร่วมกันของ “ดีไซเนอร์” และ “นักวางแผนการตลาด” กับ วิศวกร ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ระบบสมองกลฝังตัว อันมีผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อเลื่อนสถานะของประเทศไทยจาก “ผู้รับจ้างผลิต” ให้เป็น “เจ้าของแบรนด์” ให้ได้ในอนาคต

การสร้าง “ผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัว” ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการ “วิจัยและพัฒนา” เพื่อให้สินค้ามีประสิทธิภาพสูงสุดประกอบกับมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งจะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้จัด “การแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยระบบสมองกลฝังตัว ครั้งที่1” (Embedded Systems on New Industrial Design Camp and Contest 2007 : ES nid) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่เป็นนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัว ที่ทำงานกันเป็นทีมเวิร์ค สอดประสานทักษะระหว่างวิศกรกรสมองกลฝังตัว ดีไซเนอร์ และนักวางแผนการตลาด ได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ฯ ที่สวยงาม ใช้งานง่าย และตรงตามความต้องการของตลาด

กิจกรรมการแข่งขันฯ ที่เนคเทค/สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดให้มีขึ้นจึงเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรของชาติในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม ด้านผลิตภัณฑ์สมองกลฝังตัวของไทย ก้าวทันความต้องการของผู้บริโภค สนองตอบต่อวิถีชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์ และมีความแข็งแกร่ง สามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจของไทยและฝ่ากระแสการแข่งขันในตลาดโลก

นายมกร เชาวน์วาณิชย์ นายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Designers Society : IDS) เปิดเผยว่า

ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ไทยของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการต้องใช้ความร่วมมือองค์ประกอบ 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่ วิศวกรสมองกลฝังตัว นักการตลาดและดีไซเนอร์ โดยต้องวิเคราะห์ลูกค้าและคู่แข่งได้ตรงกัน

โดยวิศวกรสมองกลฝังตัวจะต้องวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีว่าเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง นักการตลาดต้องวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของตลาดว่าเป็นไปในแนวทางใด ดีไซเนอร์จะต้องทำหน้าที่สร้างสรรค์โดยประสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความต้องการของเทคโนโลยีและตลาดผู้บริโภค เพื่อออกแบบได้ตรงตามต้องการของกลุ่มลูกค้า และที่สำคัญคือต้องรวดเร็วและต้องทันเวลา เพราะตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก

“จากแนวคิดของ Philips Design ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ที่ดีมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ Designer Around you, Easy To Experience, Advance Technology” นายมกร กล่าว

Designer Around you คือนักออกแบบต้องออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้ชีวิตสมัยใหม่

Easy To Experience คือการออกแบบทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้งานง่าย เข้าใจง่าย และความสะดวกสบาย โดยผู้ใช้สามารถเรียนรู้และรับรู้ได้ง่าย Advance Technology คือผลิตภัณฑ์ต้องใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ใช้แล้วเกิดประโยชน์และมีประสิทธิมากขึ้นกว่าผลิตภัณฑ์เดิมๆ

“การแข่งขัน ES nid จะช่วยสร้างบุคลากรคนไทย โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต ให้เกิดทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวอร์ค โดยฝึกการมองปัญหาและการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างวิศวกรสมองกลฝังตัว นักการตลาดและดีไซเนอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ระบบสมองกลฝังตัว ให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

และสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่างๆ ได้อย่างแท้จริง” นายมกร กล่าว

“การแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยระบบสมองกลฝังตัว ครั้งที่1” (Embedded Systems on New Industrial Design Camp and Contest Yr 2007 : ES nid) จัดขึ้นโดย เนคเทค/สวทช. สมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (IDS) สมาคมสมองกลฝังตัว (TESA) และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA)

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) โครงการเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBTEC) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร โทร. 02-564-6900 ต่อ 2577

หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณสมพร โทร. 089-130-2886