กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--เอ็มเทค
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ
ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าว “การจัดแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007” (International Design Contest) ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้สนับสนุนหลัก คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โดยได้รับเกียรติจาก Tokyo Institute of Technology หรือโตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่นให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 18 สิงหาคม 2550 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรอบตัดสิน ในวันที่ 18 สิงหาคม ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพ ฯ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2550
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ กล่าวในงานแถลงข่าวครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัด “การแข่งขันหุ่นยนต์ IDC RoBoCon 2007 ครั้งนี้เหตุเนื่องจากในปี 2550 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น โดยการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 18 แล้วซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการประเดิมความสามารถของเด็กไทยร่วมกลุ่มกับเยาวชนนานาชาติจากอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น อเมริกา บราซิล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส และเนื่องจากช่วงเวลาการแข่งขันครั้งนี้อยู่ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นวันแม่แห่งชาติ คณะกรรมการจึงกำหนดโจทย์เพื่อออกแบบและสร้างหุ่นยนต์บังคับมือให้มอบพวงมาลัยและดอกไม้ให้กับแม่
ในการจัดแข่งขันครั้งนี้ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้ส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขัน 12 คน จากสถาบันต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะจับฉลากเพื่อเข้าร่วมกลุ่มกับเด็กนานาชาติอีก 5 ประเทศซึ่งแต่ละประเทศจะส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันโดยแบ่งออกเป็น 12 ทีม แบบคละประเทศ แต่ละทีมจะต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ตามที่กรรมการกำหนดให้ และนำมาแข่งขันกันในวันสุดท้ายในรอบตัดสินชิงชนะเลิศในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2550 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา สำหรับโจทย์การแข่งขันในปีนี้ เกี่ยวเนื่องกับวันแม่แห่งชาติของไทย โดยใช้โจทย์ว่า “Thank You Mae (Mom)!!” เทิดพระคุณแม่ด้วยการให้หุ่นยนต์นำพวงมาลัยและดอกไม้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปมอบให้กับคุณแม่ เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังกล่าวต่ออีกว่าการเป็นเจ้าภาพจัดงาน IDC RoboCon 2007 ในประเทศไทยครั้งนี้ แสดงถึงศักยภาพของประเทศและเยาวชนไทยให้ต่างประเทศได้รับรู้ เป็นการปูทางสู่เวทีระดับโลก ตอกย้ำให้เยาวชนตระหนักถึงการนำวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศ และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้สร้างพันธมิตรระหว่างประเทศนอกเหนือจากการแข่งขัน
Mr. Kazuo Shibata Director Counselor Embassy of Japan in Thailand กล่าวแสดงความยินดีกับการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 นี้ ว่า การส่งตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ซึ่งสืบเนื่องมาครบรอบ 120 ปี เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนผู้แทน สานต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับเยาวชนไทยในสนามแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสดีสำหรับเยาวชนไทยที่จะได้ร่วมพัฒนาความคิด แลกเปลี่ยนเทคนิคการทำงาน กับเพื่อนต่างชาติ ที่มาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก เป็นโอกาสให้เยาวชนไทยพัฒนาสู่การเป็นนักประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับการทำงานจริง และมั่นใจว่าไทยจะก้าวไปเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของการแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน” สำหรับการแข่งขันจะเริ่มเก็บตัวทำเวิร์คชอป ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะเริ่มเข้ากลุ่มหลังจบงานแถลงข่าววันนี้ (6 สิงหาคม 2550) ไปจนถึงวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550 รวม 2 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าชมกระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่ม ในวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2550 (ช่วงบ่าย) ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบแปลนหุ่นยนต์ การจัดการกับงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อหาอุปกรณ์เพิ่มเติม จากที่กำหนดไว้ให้ตามโจทย์
ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ก็มีความเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทยมีความรู้ความสามารถในด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ไม่แพ้ชาติใดๆ การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเหล่านี้ได้นำความรู้และทักษะการทำงานเป็นทีมกับนักศึกษาชาติอื่น สร้างเป็นผลงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยได้มีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ
ด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับนิสิตนักศึกษาไทยนั้น นายสิขรรณ วรรธนะสาร นิสิตคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนเด็กไทยที่ เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ บอกเล่าถึงความพร้อมในการแข่งขันว่า มีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกลต่างๆ ด้านความรู้ความสามารถของแต่ละประเทศใกล้เคียงกัน ส่วนปัญหาเรื่องของภาษาสามารถใช้ศัพท์เทคนิค และการวาดรูปเพื่อสื่อสารกันได้ สิ่งที่ท้าทายคือการได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนต่างชาติ ได้เรียนรู้แนวคิดในการทำงานและเทคนิคการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ต่างกัน ผมมั่นใจว่าเด็กไทย จะไม่ทำให้ผิดหวังในการร่วมกลุ่มกับเยาวชนนานาชาติ
ร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้เยาวชนไทยและนักประดิษฐ์นานาชาติ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าของการแข่งขันได้ทางเวบไซต์ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ http://www.mtec.or.th หรือเวบไซต์โครงการ http://www.idc.ctrl.titech.ac.jp/idc07/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์และนิทรรศการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ผู้ส่งข่าว นาย ขจรศักดิ์ สงวนสัตย์ ประชาสัมพันธ์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
โทร 0-2564 6500 ต่อ 4519 E-mail: [email protected]
มือถือ : 081-6229608 โทรสาร : 0 2564 6369 และ
นายสมชัย เมาไพร ต่อ 4522 E-mail: [email protected]
หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ
คุณ วารุณี อภิรักษ์สุขุมาล
โทร. 081 867 7789
คุณ อภิสรา ธรรมวิไชย
โทร. 087 829 3922
คุณ กาญจนา พึ่งทรัพย์
โทร. 081 439 2378
คุณวิภาทิพย์ ส่งวาณิชย์
โทร. 089 201 8161
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit