สช.และเครือข่ายปฏิรูปสุขภาพเปิดเวทีชำแหละร่าง รธน.๕๐ ก่อนลงประชามติ

06 Aug 2007

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายปฏิรูปสุขภาพ จัดสัมมนาร่างรัฐธรรมนูญ ๕๐ ในสายตาเครือข่ายปฏิรูปสุขภาพ” ขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมคือประชาคมสุขภาพจากจังหวัดต่างๆ ประมาณ ๑๐๐ คน

นายแพทย์อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการ สช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งแต่ละมาตราที่ถูกบัญญัติลงไปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพวกเราทุกคนอย่างแน่นอน สช. มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพเพื่อร่วมกันวิเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพต่างๆ ที่ส่งผลต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นี้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่างยิ่ง แม้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจะเป็นดอกผลจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ และให้สิทธิด้านสุขภาพใหม่ๆ ประมาณ ๘ เรื่อง แต่จากการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วจะยิ่งเอื้อให้การดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมาตรา ๖๖ เดิม วรรค ๒ (ฉบับลงประชามติ เป็นมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ) โดยเพิ่ม “สุขภาพ” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน เพราะถ้ามีการดำเนินโครงการใดๆ จะคำนึงถึงแต่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวในโลกปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอแล้ว

ซึ่งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้ให้สิทธิกับบุคคลหรือคณะบุคคลสามารถร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะได้ ดังนั้นในการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากโครงการขนาดใหญ่จะเป็นจริงได้ในสังคมไทย เพราะได้มีการระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ได้เสนอเพิ่มในมาตรา ๗๙ (๒) เดิม (ฉบับลงประชามติ เป็นมาตรา ๘๐ (๒)) ให้เพิ่ม “ระบบสุขภาพ” เข้าไป เพราะว่า การสร้างเสริมสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ ดังนั้นหากไม่ใส่คำนี้เข้าไปจะทำให้ขาดความครอบคลุมสุขภาพทั้งระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่มีแต่เรื่องสร้างเสริมสุขภาพเท่านั้น ซึ่งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพในมิติกว้าง ทั้งทางกาย ใจ สังคม และทางปัญญา และสุขภาพเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของคนเราทั้งสิ้น และจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความทันสมัยขึ้น และมองสุขภาพกว้างขึ้นกว่าเรื่องสาธารณสุข

“เวทีวันนี้เป็นการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ๕๐ ในมุมมองของเครือข่ายปฏิรูปสุขภาพ ซึ่งก่อนที่จะลงประชามติ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้ ผมเห็นว่าควรมีเวทีในลักษณะนี้ให้มากเพราะจะเป็นข้อมูลให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงได้ตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ช่วยกันมองหลายๆ มุม กฎหมายสูงสุดของประเทศทุกคนควรมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่” นายแพทย์อุกฤษฎ์กล่าว

ส่วนนายสมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ มี ๑๒ มาตรา ที่เน้นระบบบริการสุขภาพและการจัดสวัสดิการสาธารณสุขเป็นหลัก โดยที่การป้องกันและการสร้างเสริมสุขภาพจิตใจและทางปัญญามีไม่มากนัก

ส่วนมาตราที่เกี่ยวกับสุขภาพที่ดีขึ้น คือ มาตรา ๔๙ กำหนดให้ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ยากลำบาก ได้รับการศึกษาทัดเทียมผู้อื่น มาตรา ๕๑ ผู้ยากไร้รักษษฟรี การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ มาตรา ๕๕ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้เพียงพอมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ มาตรา ๖๗ (๒) และ ๒๙๐ (๓) บุคคลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมประเมินผลกระทบสุขภาพและพิจารณาโครงการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรา ๘๐(๒) สร้างเสริมสุขภาพ บริการมาตรฐาน คุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ประกอบวิชาชีพ

ส่วนข้อสังเกตสำคัญ คือ มาตรการทางปฏิบัติที่เป็นจริง ตามรัฐธรรมนูญและการไม่หลีกเลี่ยงหรือตีความภาษาให้เฉไฉไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การจัดสวัสดิการให้กับทุกคนและผู้สูงอายุยังเป็นเรื่องไม่ครอบคลุม และควรเพิ่มการสนับสนุนให้มีทรัพยากรในเรื่องสุขภาพจิตใจและทางปัญญาให้มากขึ้น ส่วนภาคประชาชนจะรับร่างหรือไม่ ขอให้ตัดสินใจด้วยความรู้และความเข้าใจที่แท้จริง

ด้านนางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสุขภาพ นับตั้งแต่การยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา กล่าวถึง มาตรา ๑๖๓ ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เพราะจากประสบการณ์การเข้าชื่อเสนอ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในช่วงที่ติดขัด ประชาคมสุขภาพได้ล่ารายชื่อ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ แม้เราจะล่าได้ ๑๕๐,๐๐๐ รายชื่อ แต่ขั้นตอนการตรวจสอบมากมาย กว่าจะผ่านมาได้เราพบว่าในทางปฏิบัติทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีขึ้นที่ลดจำนวนผู้เข้าชื่อเหลือ ๑๐,๐๐๐ รายชื่อเท่านั้น ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หรือเสนอกฎหมายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

โทร.02-5902307 โทรสาร 02-590-2311

www.nationalhealth.or.th