ทรู และ สวทศ. อวดโฉมสุดยอดนักวิทย์รุ่นเยาว์ โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2550

22 Aug 2007

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิค

โครงงานเครื่องแยกไข่แดง โรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) จังหวัดเพชรบุรี และ โครงงานเหลี่ยมกล้าท้าประลอง โรงเรียนเทศบาล 4 วัดบางแพรกเหนือ จังหวัดนนทบุรี ประกาศศักดิ์ศรีคว้ารางวัลเหรียญทองสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ในการประกาศผลประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2550 จัดโดย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ รองผู้อำนวยการ, หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร และส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ที่ทรู และ สวทศ. ร่วมกันจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 14 ปีนี้ เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของ ทรู ซึ่งมุ่งเน้นเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา ด้วยการวางพื้นฐานบุคลากรของชาติตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างเยาวชนให้เป็นคนสมบูรณ์ มีความสมดุลระหว่างร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา มีความคิดริเริ่ม รู้จักคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักแก้ปัญหา แบบคิดเป็นทำเป็น สามารถสร้างนวัตกรรมทางปัญญา สนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในโลกการสื่อสารไร้พรมแดน ที่เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนไทยนำทักษะ ความรู้ความสามารถ พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยะประเทศ”

รศ. ดร. ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย กล่าวว่า “การจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ฯ ประจำปี 2550 นี้ มีเยาวชนระดับประถมศึกษาจากทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานในรูปของโครงงานเข้าประกวดถึง 576 โครงงาน โดยคณะกรรมการพิจารณาและตัดสินให้มีโครงงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 15 โครงงาน แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ ประเภทสำรวจ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ และประเภททดลอง โดยโครงงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีการทางวิทยาศาตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือการอนุรักษ์และประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม การประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางปัญญาที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงงานเหล่านี้ถือเป็นก้าวแรกที่เยาวชน จะได้ฝึกคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาเป็น นำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ในอนาคต”

ดร. ปทัต นาถจำนง รองผู้อำนวยการ, หัวหน้าสายงาน Network Service Center บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และเป็น 1 ในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “โครงงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้โดดเด่นมาก ทำให้คณะกรรมการต้องตัดสินรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง 2 รางวัลด้วยกัน คือ โครงงานเหลี่ยมกล้าท้าประลอง ซึ่งเป็นการประดิษฐ์กล่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์รูปทรงแปดเหลี่ยม ที่มีแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการนำความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หาง่ายและราคา ไม่แพง และยังสามารถทำให้อุณหภูมิภายในกล่องสูงถึง 81 องศาเซลเซียส และอีกหนึ่งโครงงานที่ได้รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง คือ โครงงานเครื่องแยกไข่แดง ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้เล็งเห็นว่าในชุมชนของตนประสบปัญหาอะไร และได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยเหลือชุมชนของตนเองได้ รวมทั้งยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน ผลงานของนักเรียนครั้งนี้สามารถต่อยอดความรู้ให้แก่ตัวนักเรียนเอง รวมทั้งชุมชนและสังคมโดยรวม ทรู เชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและถาวร เราจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเพาะบ่มเป็นกำลังที่สำคัญของชาติต่อไปในอนาคต”

เด็กหญิงบุญธิดา เพชรศรีกิตติชัย เด็กหญิงทวีพร บุญเส็ง และเด็กชายสันติภาพ ประสานนานุรักษ์ นักเรียนชั้นระดับประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) จังหวัดเพชรบุรี ทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเหรียญทอง เล่าว่า “เวลาหนูไปซื้อขนมที่ร้านค้า หนูสังเกตเห็นว่าเวลาแม่ค้าทำขนม เขาจะใช้มือแยกไข่ขาวและไข่แดงออกจากกันทำให้แยกออกไม่หมดและใช้เวลานาน พวกหนูจึงไปปรึกษาคุณครูเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงได้ โดยหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใกล้ตัว เช่น ลวด อะลูมิเนียม แผ่นสังกะสี เป็นต้น มาประดิษฐ์เป็นเครื่องแยกไข่แดงที่มีลักษณะเป็นรางลวดตาข่ายเอียงลาด ลองทำอยู่หลายครั้ง ได้ผลสรุปว่า รางลวดควรมีความยาว 24 นิ้ว มีความลาดเอียงจุดต่ำสุดที่ 4 นิ้ว และจุดสูงสุดที่ 12 นิ้ว และลวดตาข่ายควรมีตาห่างช่องละ 1 เซนติเมตร จะสามารถแยกไข่แดงออกจากไข่ขาวได้ดี และเครื่องนี้ก็ทำให้พวกหนูได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ตื่นเต้น ดีใจ และภูมิใจมาก ปีหน้าจะชวนเพื่อนๆ มาสมัครเยอะๆ เพราะได้ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ค่ะ”

เด็กหญิงวณิดา วงศ์วันดี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหินตั้งพิทยากร จังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนกลุ่มโครงงาน เคล็ดลับการเก็บผักให้สดได้นาน ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง เล่าว่า “แนวคิดของโครงงานนี้เกิดจาก การที่ชุมชนของหนูไม่ค่อยมีตู้เย็น เวลาไปซื้อหรือเก็บผักมาก็จะเหี่ยวเร็ว จึงได้คิดและทดลองวิธีการรักษาผักให้สดได้นาน และไม่เปลืองพลังงาน แถมยังลดภาวะโลกร้อนอีกด้วยค่ะ โดยใช้สารสกัดธรรมชาติจากใบผักปลังและใบงิ้ว นำมาทดลองแช่ผักบุ้งค่ะ ผลที่ได้คือ สารสกัดจากใบงิ้วทำให้ผักบุ้งสดกว่าสารสกัดจากใบผักปลังค่ะ”

ทรู ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันความสามารถของเด็กและเยาวชนไทย ต้นกล้าต้นน้อยให้เติบใหญ่เป็นต้นกล้าที่แข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

พิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม โทร: +66 (0) 2699 2772 อีเมลล์: [email protected]

วิภาดา อิศระ โทร: +66 (0) 2699 2778 อีเมลล์: [email protected]

โปรดปราน เสริญวงศ์สัตย์ โทร: +66 (0) 2699 2774 อีเมลล์: [email protected]

บริษัท ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด

เกษมศรี (08 1 611 4696) โทร +66 (0) 231 6158-9 อีเมลล์ [email protected]

อังคณา (08 1 721 7523) อีเมลล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net