กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กฟผ.
กฟผ. เดินหน้าตามปณิธาน “รักพ่อ ใช้พลังงานอย่างพอเพียง” มอบห้องเรียนสีเขียวโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นแห่งที่ 432 ของประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ “ชาวตลาดต้นพยอมพร้อมใจ ใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5” มุ่งประหยัดค่าไฟฟ้ากว่า 100,000 บาทต่อปี และลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่าปีละ 16,000 กิโลกรัม
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวมอบห้องเรียนสีเขียว และร่วมกับพลเอกมงคล อัมพรพิสิฎฐ์ ประธานคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 4 (วตท.4) มอบห้องเรียนสีเขียวแก่ ดร.จรวยพร ธรนินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งมอบให้กับนายสุรพงษ์ ญาณสาร รองผู้อำนวยการฝ่ายจัดการศึกษา (วิชาการ) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พร้อมกันนี้คณะฯ ได้ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดป้ายห้องเรียนสีเขียว ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 432 ของประเทศ
ในโอกาสเดียวกันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวจังหวัดเชียงใหม่หันมาใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5 แทนหลอดไส้ ตามโครงการ “เพื่อชาติ เลิกหลอดไส้ ใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5” กฟผ. ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ชาวตลาดต้นพยอมพร้อมใจ ใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5” ณ ตลาดสุเทพ หรือตลาดต้นพยอม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ มอบหลอดตะเกียบเบอร์ 5 จำนวน 100 หลอด แก่นายเจษฎา เจริญกิติศัพท์ ผู้จัดการตลาดต้นพยอม เพื่อเปลี่ยนในตลาดเป็นการนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้คณะฯ ได้ร่วมกันแจกหลอดตะเกียบ และเปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบเบอร์ 5 แก่ผู้ค้าทุกราย ทั้งนี้ ภายหลังการเปลี่ยนใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5 ตลาดต้นพยอมนับเป็นตลาดเอกชนแห่งแรกของประเทศที่ ปลอดหลอดไส้ ซึ่งจะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 32,000 หน่วย หรือกว่า 100,000 บาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 16,000 กิโลกรัมต่อปี นับเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดปัญหาสภาวะโลกร้อนของประเทศในปัจจุบันอีกด้วย
โครงการ “เพื่อชาติ เลิกหลอดไส้ ใช้หลอดตะเกียบเบอร์ 5” เป็นโครงการที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน ภายใต้โครงการการจัดการพลังงานสนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ตามปณิธาน “รักพ่อ ใช้พลังงานอย่างพอเพียง” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ จำนวน 30 ล้านหลอดทั่วประเทศ ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงปีละประมาณ 1,000 ล้านหน่วย หรือ 3,000 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงประมาณ 800,000 ตันต่อปี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit