กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกัน (UFIC07NA, UFIC08NA, UFIC09OA) ของ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ที่ระดับ “BBB+” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานภาพของบริษัทในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลในกลุ่มน้ำตาลมิตรผลซึ่งเป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับ และการบริหารโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงโครงสร้างเงินทุนของบริษัทและของกลุ่มที่มีอัตราการก่อหนี้อยู่ในระดับสูง รวมทั้งความไม่แน่นอนของปริมาณผลผลิตอ้อย และความผันผวนของราคาน้ำตาล
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงความเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดของไทยและบริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมมีสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญของกลุ่ม ทั้งนี้ จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีคาดว่าในช่วงปี 2550-2551 บริษัทจะสร้างรายได้จากธุรกิจน้ำตาลได้ปีละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปีละประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญในกลุ่มน้ำตาลมิตรผลซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำในตลาดอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยบริษัทบริหารโรงงานน้ำตาลซึ่งตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 3 แห่งจากทั้งหมด 5 แห่งของกลุ่มมิตรผล โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวมกันที่ 70,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 60% ของกำลังการหีบอ้อยรวมของโรงงานน้ำตาลมิตรผลในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลยังคงสามารถจัดหาอ้อยได้ในปริมาณสูงสุดโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 17%-18% และในปีการผลิต 2549/2550 กลุ่ม มิตรผลยังคงมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายสูงที่สุดในประเทศคิดเป็น 18.9% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง 18.1% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 14.0% และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 8.3%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมผลิตได้ในปีการผลิต 2549/2550 มีจำนวนประมาณ 784,000 ตัน เพิ่มขึ้น 43% จากปีที่ผ่านมา และสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 38% โดยประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานของบริษัทที่ระดับ 108.16 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนั้นถือว่าดีกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 104.94 กก. ผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับน่าพอใจ โดยยอดขายในปี 2549 เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ของธุรกิจแผ่นไม้อัด (Particle Board) ที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูง โดยลดลงจาก 76.65% ในปี 2548 เป็น 65.68% ในปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายธุรกิจโรงไฟฟ้าซึ่งมีโครงสร้างเงินกู้ในระดับสูงออกไป อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 3.96 เท่าในปี 2548 เป็น 3.61 เท่าในปี 2549
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศค่อนข้างผันผวนเนื่องจากขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูก และราคาของอ้อยเมื่อเทียบกับราคาของพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปริมาณอ้อยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 74 ล้านตันอ้อยเมื่อปีการผลิต2545/2546 มาสู่ระดับ 47 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2548/2549 แล้วนั้น ผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2549/2550 ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 63.8 ล้านตันเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาอ้อยและน้ำตาลที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นฤดูหีบอ้อย ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2550/2551 จะมีปริมาณอย่างน้อยในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ แม้ว่าน้ำตาลทรายในประเทศจะมีราคาค่อนข้างคงที่ ทว่าราคาน้ำตาลส่งออกกลับผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานของน้ำตาลและสินค้าที่เกี่ยวข้องในตลาดโลก โดยราคาน้ำตาลทรายดิบของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 10.67 เซนต์/ปอนด์ในปี 2547/2548 เป็น 18.93 เซนต์/ปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 แต่ค่อยๆ ลดลงสู่ระดับ 10.78 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2550 ทริสเรทติ้งกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit