กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สกว.
พริก สมุนไพรไทยใกล้ตัว สารพัดประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่ให้รสเผ็ด สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์แก้ง่วงได้หลายอย่าง เช่น สเปรย์พริกชนิดฉีดพ่นในปากปลุกให้ตื่น แผ่นฟิล์มอมแก้ง่วง หรือขนมเจลาตินชนิดใช้เคี้ยวอม พร้อมแสดงผลงานใน “นิทรรศการสมุนไพร สุขภาพสัตว์ คุณภาพชีวิต” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2550 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 17.00 น. ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชมงานฟรี
พริก พืชผักสวนครัวประจำบ้านที่แทบทุกครัวเรือน จะนำไปเป็นส่วนผสมสำคัญของอาหาร ประเทศไทยนิยมปลูกพริก 2 ชนิดได้แก่ พริกหวาน พริกหยวก พริกชี้ฟ้า ซึ่งจัดเป็นพริกที่อยู่ในกลุ่มรสชาติไม่เผ็ดมาก และยังมีกลุ่มของพริกที่เผ็ดได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ และพริกเหลือง พริกยังไม่ได้มีดีเฉพาะการให้รสชาติของความเผ็ด แต่พริกยังจัดเป็นสมุนไพรไทยสารพัดประโยชน์ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ช่วยเจริญอาหาร นอกจากประโยชน์เหล่านี้แล้ว ยังมีการนำสารประกอบในพริกมาสกัดเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ อย่างโครงการ “ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อแก้ง่วงจากสารสกัดพริก” โดย รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
รศ.วิมล กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการนี้เริ่มจากการเห็นปัญหาของการใช้สารกระตุ้นแก้ง่วง ในกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุก คนขับรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มคนทำงานในสำนักงานหรือนักเรียนนักศึกษา ที่นิยมเครื่องดื่มประกอบด้วยคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง จนกระทั่งสารที่เป็นอันตรายรุนแรงอื่นๆในอดีต เช่น แอมเฟตามีน ซึ่งสารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานภายใต้ฤทธิ์ของสารกระตุ้นดังกล่าว จึงได้มองหาสมุนไพรไทยๆที่สามารถช่วยกระตุ้นแก้ง่วง และพบว่าในผลพริกจะมีสารประกอบที่เรียกว่า แคปไซซินอยด์(Capsaicinoids) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้พริกมีรสชาติเผ็ด เมื่อให้ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว ปลุกให้หายง่วงนอนได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
งานวิจัยนี้มีกระบวนการวิจัยเริ่มต้นจากการสกัดสารแคปไซซินอยด์ในพริกอย่างพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูและพริกเหลือง ซึ่งเป็นพริกที่ให้รสชาติเผ็ด มาใช้ทดแทนสารกระตุ้นที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ และเตรียมให้อยู่ในรูปแบบต่างๆที่สะดวกสำหรับการพกพา เช่น สเปรย์เพื่อใช้แก้ง่วง สำหรับสูตรของสเปรย์พริกดังกล่าวสรุปคร่าวๆได้แก่ ส่วนผสมของสารสกัดพริกที่ให้ความเผ็ดและสารช่วยละลาย จากนั้นจึงแต่งรส และแต่งกลิ่นให้เป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้ใช้ สเปรย์ที่ได้จะมีลักษณะใสน่าใช้ จากการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นของสเปรย์ในอาสาสมัคร โดยทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของผู้ใช้ในภาวะปกติก่อนและหลังการฉีดพ่น พบว่ามีผลเพิ่มความดันโลหิตและทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ในทันทีหลังฉีดพ่น และเมื่อให้อาสาสมัครนำสเปรย์ไปทดลองใช้ที่บ้าน หรือที่ทำงานพบว่า สามารถทำให้ตื่นตัวหายง่วงได้ ภายในเวลาประมาณครึ่งนาที
รศ.วิมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาสารสกัดจากพริกมาใช้แก้ง่วงในรูปแบบของ แผ่นฟิล์มแก้ง่วง ที่มีลักษณะเหมือนแผ่นฟิล์มอมระงับกลิ่นปาก โดยมีส่วนผสมของสารสกัดพริกจากองค์การเภสัชกรรมและส่วนประกอบพื้นฐานของฟิล์ม ผสมกับสารที่ให้ความเหนียวและยืดหยุ่น เมื่อทำให้แห้งจะได้เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ โดยสามารถนำไปใช้อมเหมือนแผ่นฟิล์มระงับกลิ่นปาก ซึ่งจะสะดวกต่อการพกพาและเหมาะสำหรับผู้บริโภคประเภทกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว โดยมีฤทธิ์กระตุ้นในทันทีที่อม และทีมวิจัยยังมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ขนมเจลาตินชนิดใช้เคี้ยวอม ที่มีส่วนผสมของสารสกัดพริกจากองค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้แก้ง่วง โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว เช่นกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาฤทธิ์กระตุ้น และการใช้งานที่บ้านหรือที่ทำงาน ขณะนี้กำลังเปิดรับสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจนำงานวิจัยนี้ไปใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป
โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะร่วมแสดงผลงานใน งานนิทรรศการ “สมุนไพร สุขภาพสัตว์ คุณภาพชีวิต” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2550 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.- 17.00 น. ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวฟรี
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit