กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กองทัพเรือ ร่วมกิจกรรมเนื่องในวันทหารผ่านศึก ประจำปี ๒๕๕๐ โดยมี พลเรือตรี รุ่งรัตน์ บุณยรัตพันธุ์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ ร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันทหารผ่านศึก ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เวลา ๐๗.๕๐ น. และพลเรือโท มานัส ทองเจียม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ ร่วมพิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เวลา ๑๖.๐๘ น.
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันทหารผ่านศึก" ของประเทศไทย เนื่องมาจากเป็นวันที่รัฐบาลได้จัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวรทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ "ทหารผ่านศึก" และครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยมีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๑ จึงถือว่าวันนี้เป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา ความสำคัญของวันทหารผ่านศึกยังเกี่ยวข้องกับ "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" อนุสรณ์สถานที่จะต้องมีการวางพวงมาลาของบุคคลสำคัญของประเทศ เพื่อคารวะดวงวิญญาณของทหารหาญและเหล่าวีรชนคนกล้าที่มีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ เป็นการเทิดเกียรติแก่คนเหล่านั้น ที่ได้เสียสละชีพเพื่อชาติและปกป้องอธิปไตยของชาติไทย ในเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส ในการเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน และเป็นสิ่งเตือนใจให้ชาวไทยได้ระลึกเสมอว่า "ชาติไทยนั้นดำรงความเป็นเอกราชและรักษาความเป็นชาติอยู่ได้ล้วนเกิดจากความกล้าหาญและเสียสละของบรรดาวีรชนนักรบไทย"
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งตั้งเด่นสง่า ณ ศูนย์กลางของต้นทางหลวงถนนพหลโยธินช่วงถนนพญาไทบรรจบกับถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับศิลาอ่อน มีรูปทรงเป็นดาบปลายปืน ๕ เล่ม มีความสูงประมาณ ๕๐ เมตร รอบดาบปลายปืนมีรูปปั้นนักรบ ๕ เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ยืนล้อมรอบอยู่ บริเวณใต้รูปปั้นมีแผ่นทองแดงซึ่งเป็นที่จารึกรายชื่อของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส อันเป็นที่มาของการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ กล่าวคือ ในปี พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไทยได้เรียกร้องขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสได้เร่งรัดให้ไทยทำสัตยาบันไม่รุกรานฝรั่งเศส เป็นการตอบแทนตามที่ได้เคยทำสัญญาไว้ โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อแลกสัตยาบันกันเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยให้คำตอบว่ายินดี จะทำตาม หากฝรั่งเศสยินยอมยกดินแดนหลวงพระบางปากเซทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนให้กับไทย และทำการปักปันเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงให้เรียบร้อย และต้องรับประกันว่าจะยกประเทศลาว ซึ่งเป็นอาณาจักรของไทยมาแต่เดิมคืนให้กับไทยหลังจากที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธข้อเสนอนี้ กรณีพิพาทจึงเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อฝรั่งเศสทำการทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ และทาง รัฐบาลไทยได้โต้ตอบด้วยการทิ้งระเบิดบ้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารและอาวุธ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทให้ยุติลง ด้วยการตั้งกรรมการขึ้นเพื่อการประชุมทำสัตยาบันสันติภาพที่กรุงโตเกียว โดยฝรั่งเศสตกลงยอมยกดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์ กับที่ท่าสามเหลี่ยมฝั่งขวา และอาณาเขตมณฑลบูรพาเดิมให้กับไทย ผลจากกรณีพิพาทครั้งนี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียทหารหาญ ผู้กล้าจำนวนถึง ๕๙ ราย อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่จารึกรายนามของทหารหาญเหล่านี้ รวมถึง ผู้กล้าที่เสียชีวิตในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และสงครามเกาหลี จึงกล่าวได้ว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการรำลึกถึงเกียรติคุณ และคุณงามความดีของทหารหาญผู้กล้าทั้งหลาย ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ในการปกป้องเอกราชอธิปไตยไว้ให้ลูกหลานสืบไปชั่วนิรันดร์ และในวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ องค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึกจึงได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลา เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นประจำทุกปี
(ที่มา:http://www.rtaavn.thaigov.net/3febll.html)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit