ปภ.ลำปาง เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำ 5โซน

09 Feb 2007

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ปภ.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง คาดว่าจะมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งในจังหวัดลำปางทั้งหมด 12 อำเภอ เหลือเพียงอำเภอเมืองลำปางเท่านั้นที่ยังไม่ประสบภัยแล้ง ประชาชนเดือดร้อนแล้ว 316,698 คน 87,587 ครัวเรือน ขณะนี้ได้ระดมชาวบ้านร่วมสร้างฝายแม้ว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งแล้ว

นายสัลเลข

คำใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดลำปาง ซึ่งภัยแล้งในปีนี้เกิดขึ้นเร็ว และรุนแรงมากกว่าทุกๆปี คาดว่าในปีนี้จะมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมด 12 อำเภอ 81 ตำบล 708 หมู่บ้าน อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำไว้เพื่อการเกษตร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบูรณาการทุกภาคส่วนให้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ขณะนี้จังหวัดลำปางได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินปัญหาภัยแล้งแล้ว 12 อำเภอ ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปางได้ประสานความร่วมมือกับอำเภอในการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง และขอความร่วมมือจากประชาชนจัดทำฝายเช็คแดม หรือฝายแม้ว เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และในยามขาดแคลนน้ำ หากราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปางได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำไว้บริการแจกจ่ายน้ำให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว โดยแยกโซนรับผิดชอบออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซน A รับผิดชอบอำเภอเมือง ห้างฉัตร เกาะคา และแม่ทะ โซน B รับผิดชอบอำเภอวังเหนือ เมืองปาน และแจ้ห่ม โซน C รับผิดชอบอำเภอแม่เมาะ และงาว โซน D รับผิดชอบอำเภอเสริมงาม และสบปราบ และโซน E รับผิดชอบอำเภอแม่พริก และเถิน หากประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จะสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันสร้างฝายแม้วในชุมชนของตนให้มากขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง ทั้งนี้ หากประชาชนประสบความเดือดร้อนภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง โทรศัพท์ 0-5426-5072-4 หรือแจ้งขอความช่วยเหลือทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชม.