กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับโครงการประกวดออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ชื่อว่า Pacific Pipe Awards ของบริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ Modern Art Center in Bangkok ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่อยากเห็นกรุงเทพมีอาคารแสดงงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีความสวยงาม เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
หัวข้อการประกวดที่โดนใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้มีนิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้ามาประชันฝีมือกันมากถึง 111 ผลงาน ซึ่งทำให้คณะกรรมการหนักใจอยู่ไม่น้อย เพราะแต่ละผลงานก็มีดีต่างกันไป แต่ด้วยประสบการณ์ของกรรมการชั้นครู ซึ่งประกอบด้วย คุณทวีจิตร จันทรสาขา คุณพรชัย บุญสม คุณสุพจน์ นฤภัย คุณธนา แก้วกระจ่าง คุณอมตะ หลูไพบูลย์ คุณประธาน ธีระธาดา และคุณสมชัย เลขะพจน์พานิช ในที่สุดก็เฟ้นหาจนได้ผลงานที่ถือว่าเป็นดาวประกายแสง เข้าตากรรมการรวม 6 ผลงานด้วยกัน
การประกาศผลและมอบรางวัลในปีนี้จัดขึ้นที่บริเวณเอ-เทียม 1 สยามเซ็นเตอร์ โดย คุณรัฐพล มีธนาถาวร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานมอบรางวัล และ คุณสมชัย เลขะพจน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นเกียรติในงาน
สำหรับผู้ที่ชนะใจกรรมการคว้า รางวัลชนะเลิศ ไปครอง ได้แก่ อเนกพงศ์ กุศลคุ้ม, วัฒนศิลป์ วัฒนเกียรติผลและอรรัมภา จริงรักวงษ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เจ้าของผลงาน MIRACLE OF ART
วัฒนศิลป์ สมาชิกของทีม รับอาสาเล่าถึงคอนเซ็ปต์ของ MIRACLE OF ART ว่า งานชิ้นนี้เป็นตัวแทนของมนุษย์และศิลปะมารวมกัน โครงสร้างทั้ง 2 รูปแบบแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุน สร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มนุษย์เป็นผู้สร้างงานศิลปะ และศิลปะเองก็เป็นสิ่งแทนมนุษย์ เป็นสิ่งที่บอกกล่าวให้โลกได้รู้ว่า ตัวตนของมนุษย์เป็นอย่างไร คนเราสร้างงานศิลปะและศิลปะเองก็กำหนดเส้นทางให้กับชีวิตเช่นกัน
เราสร้างรูปแบบของ 2 สิ่งให้เป็นตัวแทนของมนุษย์กับศิลปะ โดยโครงสร้างที่เป็นเหล็กและคอนกรีต เป็นตัวแทนของมนุษย์ ที่สร้างสรรค์คิดค้นขึ้นด้วยเหตุและผล ต่างจากโครงสร้างที่สื่อถึงศิลปะที่มีรูปทรงแสดงถึงความอิสระและจินตนาการ ทั้ง 2 อย่างอยู่ร่วมกันได้ ต่างส่งเสริมกัน มีความหมายในตัวเอง เป็นความขัดแย้งที่อยู่ร่วมกัน มีความหมายในตัวเอง
เพื่อนๆ ในทีมช่วยกันเสริมว่า สถาปัตยกรรมชิ้นนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะแล้ว ตัวสถาปัตยกรรมเองก็ยังศิลปะที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจด้วย สำหรับไอเดียในการออกแบบครั้งนี้ ได้มาจากประสบการณ์บวกกับการหาข้อมูลเพิ่มใช้เวลานับเดือน ที่จะสื่อให้อาคารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะที่สวยทันสมัยตรงกับโจทย์ที่กำหนด
ส่วน รางวัลที่ 2 ได้แก่ ศิระ ชัยจิตวณิชกุล, สสิล กฤษณะเศรณี, สรัณ ไชยสุต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน Sequence of Perception
สรัณ ตัวแทนของทีมได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน Sequence of Perception ว่า ก่อนที่จะออกมาเป็นงานชิ้นนี้ เราตีความกันว่าคนเราเรียนรู้งานศิลปะผ่านสัมผัสต่างๆ เช่น รูป เสียง แสง เราจึงแบ่งคอนเซ็ปต์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Sequence คือ ลำดับการเข้าถึงอาคาร โดยแบ่งพื้นที่และโซนในการเข้าไปยังตัวอาคารอย่างลื่นไหล อย่างที่ 2 คือ
ตัวอาคาร ซึ่งโจทย์กำหนดว่าเป็น Modern Art Center in Bangkok ก็เลยคิดต่อว่าสมัยก่อนกรุงเทพซึ่งอยู่ในภาคกลางเป็นพื้นที่ทำไร่ ทำนา เราก็เลยเอาไร่ นา มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างอาคาร โดยนำท่อเหล็กมาเป็นโครงสร้างที่เปรียบเสมือนต้นข้าว
เสน่ห์ของอาคารนี้คือ การนำท่อเหล็กมาสร้างทำให้เกิดเสียง เพราะท่อเหล็กมีความกลวง เมื่อมีลมผ่านเข้าไปก็จะเกิดเสียงได้ ขณะเดียวกันแสงที่พุ่งผ่านเข้ามา ก็จะทำให้ท่อเหล็กเกิดสีสันตามธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา และฤดูกาล นอกจากนี้ ท่อเหล็กที่ออกแบบให้ขยับได้ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดไดนามิคของเงาที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาเช่นกัน เพราะฉะนั้น อาคารหลังนี้จะเป็นศิลปะในตัวเอง โดยเปลี่ยนสี แสง และแบบของอาคารได้ตลอดเวลา แล้วมีเสียงเข้ามาช่วยให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น
สำหรับ รางวัลที่ 3 เป็นของนักศึกษาที่มาไกลจากแดนใต้ ได้แก่ ชญาสิทธิ์ รัตนพนังสกุล, อธิป ไกรแสง, ราตรี เกลี้ยงทิพย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา เจ้าของผลงาน Feel of line
ชญาสิทธิ์ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการคิดงาน Feel of line ว่า เมื่อคิดถึงกรุงเทพก็จะคิดถึงความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง มีเทคโนโลยีที่รุดหน้า และนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ผู้คนสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ดังนั้นเราจึงออกแบบให้อาคารหลังนี้ช่วยลดความสับสน และวิถีชีวิตที่ยุ่งเหยิงของคนกรุงเทพ ด้วยโครงสร้างที่ไหลลื่น โค้งมน ดูสบายตา ให้ความรู้สึกว่างเปล่าเพื่อจิตใจหยุดนิ่ง เต็มไปด้วยความสุนทรีย์
สำหรับรางวัลที่ชญาสิทธิ์ อธิป และราตรี ได้รับครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาซึ่งทั้ง 3 คน ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า ที่สถาบันส่งมาทั้งหมด 20 ทีม พอทราบว่าติด 1 ใน 20 ก็ดีใจแล้ว เพราะต้องมาแข่งกับสถาบันอื่นทั่วประเทศ ยิ่งพอทราบว่าได้รับรางวัลที่ 3 ก็ดีใจมาก รางวัลนี้จะเป็นบันไดขั้นแรก เป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้พวกเราพยายามคิดงานให้ดียิ่งขึ้น
ฟังความรู้สึกของเจ้าของผลงานไปแล้ว ลองมาฟังความคิดเห็นของกรรมการตัดสินกันบ้าง
คุณประธาน ธีรธาดา บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Art4D พูดถึงผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า “ผมเลือกงานชิ้นนี้เป็นที่ 1 ของผมด้วย เพราะเค้ามีความชัดเจนที่สุด ตอบโจทย์หลายๆ เรื่อง มีการผสมผสานการทำงานร่วมกันระหว่างงานวิศวะกับสถาปัตย์ คือ มีความแข็งของกรอบที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ มีเฟรมข้างนอกเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ดูแล้วมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัว เป็นโครงสร้างลื่นไหลและมีความต่อเนื่อง 2 สิ่งนี้นี้เป็นความขัดแย้งที่นำมาใส่ไว้รวมกัน ซึ่งดูแล้วโอเค มันไม่ใช่ความคิดที่ใหม่มาก แต่ในจังหวะนี้ถือว่าดูดีที่สุด ค่อนข้างสมบูรณ์ในแง่ของการเริ่มคิด จากคอนเซ็ปต์แล้วพัฒนามาเป็น Final Presentation ผมว่ามันจบในตัวเอง
สำหรับคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดไม่ว่าจะเป็นโครงการ Pacific Pipe Awards 2007 หรือโครงการอื่นๆ ก็คือ อยากให้ทุกคนทำเต็มที่ ไม่ต้องเก็งว่าต้องออกแบบอย่างไรถึงจะชนะ คิดให้เป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ งานที่คิดแบบนั้นก็จะชนะทุกที
ทางด้านกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณพรชัย บุญสม พูดถึงผลงาน MIRACLE OF ART ว่า งานชิ้นนี้มีจุดเด่น 2 อย่าง คือ มีวิธีการนำเสนอที่ดี ซึ่งเป็นข้อแนะนำสำหรับคนที่จะส่งงานเข้าประกวดด้วย เพราะการประกวดเกือบทุกที่ ถ้ามีพรีเซ็นเทชั่นที่ดีก็จะได้เปรียบ อีกจุดหนึ่งที่ทีมนี้เด่นคือการตีโจทย์ของเขาทำได้ดีกว่าทีมอื่น วิธีการของเขาก็คือว่า ตัวมนุษย์เป็นสิ่งที่วิจิตร แล้วใส่ฟรีฟอร์มเข้าไป ตัดเซ็คชั่นแล้วมองเห็นว่าอยู่กันอย่างไร แล้วเฟรมมิ่งของแบบค่อนข้างชัดเจน ผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ทำให้ทีมนี้ได้คะแนนมากกว่าทีมอื่น
นอกจากจะมีการประกาศผลและมอบรางวัลรวม 140,000 บาทแล้ว งานนี้ยังมีการพูดคุยกับ คุณอมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกชื่อดัง ในหัวข้อ การเป็นนักออกแบบที่ดีในอนาคต ซึ่งในมุมมองของคุณอมตะเห็นว่าการที่จะเป็นนักออกแบบที่ดีได้ ก่อนอื่นต้องมีความชอบก่อน หลังจากนั้นก็ต้องใฝ่รู้ ค้นคว้า หาข้อมูลเยอะๆ เพื่อเก็บไว้เป็นประสบการณ์ เก็บเป็น Library ในสมองไว้เลย ซึ่งข้อมูลก็หาได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว ไปตลาด ไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปสวน ก็เก็บข้อมูลได้ เมื่อถึงเวลาจะต้องออกแบบ เราอาจจะได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะออกแบบงานชิ้นนึงก็ต้องวิ่งหาข้อมูลกันทีนึง
อีกหนึ่งคำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่เรียนจบก็คือ ก่อนที่จะออกมาทำงานเป็นนักออกแบบอิสระหรือฟรีแลนซ์ ควรจะฝึกฝนเรียนรู้การทำงานในบริษัทซัก 5-10 ปีก่อน เพราะสิ่งที่เราเรียนในสถาบันเป็นความรู้แค่ 10-15% ของการใช้งานจริง การทำงานในบริษัทจะได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ ได้เรียนรู้ลูกค้า ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ดีก่อนที่จะออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ถ้าเรียนจบออกมาแล้ว ทำงานฟรีแลนซ์เลยจะทำให้เราขาดประสบการณ์ตรงนี้
นอกจากนี้ คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ได้มาร่วมพูดคุยในงานนนี้ด้วย ซึ่งคุณฉัตรวิชัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาคารแสดงงานศิลปะว่า อาคารแสดงงานศิลปะมีบทบาทสำคัญอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจศิลปะว่าคืออะไร ศิลปะทำให้เราคิดเป็น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีในสังคม เป็นอาหารสมอง ถ้าไม่มีศิลปะ ส่วนหนึ่งของชีวิตก็จะหายไป ดังนั้นเมื่อศิลปะมีความสำคัญ อาคารแสดงงานศิลปะก็ย่อมมีความสำคัญตามไปด้วย โดยส่วนตัวแล้วอยากให้มีอาคารแสดงงานศิลปะเกิดขึ้นทุกที่ ทุกจังหวัด เราจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะศิลปะก่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิด เศรษฐกิจที่ดีก็จะตามมา
อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในงานนี้ก็คือ การแสดงแฟชั่นโชว์ Contemporary Art Performance & Fashion Bangkok 2007 ที่ใช้ท่อเหล็กมาประดิษฐ์เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของแต่ละประเทศ แล้วตกแต่งเป็น Headdress ประดับบนศีรษะของเหล่านางแบบ โดย แพนเค้ก – เขมนิจ มาพร้อมกับ Headdress ที่ประดิษฐ์เป็นโมเดลรูป หอไอเฟิล ประเทศฝรั่งเศส ส่วน Headdress ของ เอ๊ะ – ศศิกานต์ ถูกประดิษฐ์ให้เป็นรูปสนามกีฬา Khalifar ประเทศการ์ต้า และตอง – ภัครมัย มาพร้อมกับ Headdress ที่เป็นโมเดลของ Spinnaker Tower ประเทศอังกฤษ
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
นิมมิดา วรนิธิศ, ศาตนันท์ สว่างเนตร
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0 2354 3588
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit