กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สกว.
ปัญหาการศึกษาไทย นอกจากการจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแล้ว การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในวงการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งในแง่การสอนของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนเอง
ในการประชุมเสนอผลงานวิจัยชุดโครงการฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศทั้ง 16 โครงการ ศ.ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ผู้ประสานงานโครงการฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากข้อมูลพื้นฐาน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าภาษาอังกฤษเป็นที่ต้องการอย่างสูง รองลงมาเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีตามลำดับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนภาษาต่างประเทศ คือ ทักษะการฟัง-การพูด ยังเป็นปัญหามาก เพราะการเรียนในวิชาปกติมีเวลาน้อย ฉะนั้นการฝึกครู-นักเรียนแบบเข้ม ในทักษะการฟัง-การพูด จะช่วยผู้เรียนเพิ่มแรงจูงใจและเกิดความมั่นใจในการสื่อสารได้มากขึ้น
“ภาษาอังกฤษที่รู้จักและร่ำเรียนกันมานานก็ยังไม่มีประสิทธิภาพในเรื่องการใช้ภาษาอย่างถูกต้องทั้งผู้เรียนและผู้สอนด้วย ทั้งยังไม่มีการเตรียมตัวรับมือแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจารย์ขาดแคลน การสอนในภาคปกติมีเวลาน้อยและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาที่พบในระหว่างการทำโครงการวิจัย คือ ครูผู้สอนส่วนมากไม่ได้จบเอกวิชาภาษาอังกฤษมาโดยตรง จึงทำให้การสอนภาษาอังกฤษในระดับต้นๆ เป็นปัญหาตั้งแต่แรก ทำให้ผู้เรียนไม่กล้าสนทนาภาษาอังกฤษ และครูออกเสียงไม่ถูกต้องด้วย” ศ.ดร.ปราณี กล่าวและว่า
จากผลของโครงการ “ฐานรากการสอนภาษาต่างประเทศ” ที่เกิดขึ้นช่วยสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ภาษาทั้งครูและเด็ก “การสอนแบบเข้ม” จึงเป็นวิธีการหนึ่งเท่านั้นที่จะนำมาพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถฝึกให้ผู้เรียนช่วยเหลือตัวเองในทักษะด้านการฟัง-พูด ตามความต้องการของผู้เรียนและผู้สอน โดยอบรมหลักสูตรแบบเข้ม (6-8สัปดาห์) ซึ่งมีข้อดี คือ ให้ครูในพื้นที่เป็นผู้ที่ทำกันเอง และให้มหาวิทยาลัยต่างๆในภูมิภาคที่มีศักยภาพช่วยเหลือกัน เช่น ภาคเหนือ มีมหาวิทยาราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงไปช่วยเหลือโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถมฯ ในการสอนภาษาต่างประเทศให้กับครูและนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา
ด้าน อาจารย์พงษ์สุดา ภู่เจริญ ครู ค.ศ.2 โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทักษะการฟัง-พูดแบบเข้มสำหรับครูผู้สอนภาษาอังกฤษช่วงชั้นที่ 2 ในเขตพื้นที่บริการโรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า จากโครงการดังกล่าว ได้มีการช่วยเหลือครูในพื้นที่โดยจัดกลุ่มครูในโรงเรียนทั้งหมด 6 โรงเรียน ให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษ แบบพี่สอนน้อง โรงเรียนใหญ่สอนโรงเรียนเล็ก ซึ่งทำให้ครูมีทักษะการฟังที่ดีขึ้น และสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้องชัดเจนมมากขึ้น ขณะที่ผู้เรียนดูผลจากการสอบ pre-test /post-test ซึ่งคะแนนมีทั้งเพิ่มขึ้น คงที่ และลดลง แต่ในแง่ของการสื่อสารนักเรียนมีความสนุกในการเรียนและกล้าสนทนาภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่ อาจารย์อรนุช ทองทักษิณ นักวิจัยโครงการการสอนภาษาเยอรมันโดยเน้นทักษะการฟัง-การพูดเยอรมันแบบเข้ม เผยว่า การสอนภาษาเยอรมันโดยเน้นทักษะการฟัง-การพูดเยอรมันแบบเข้มได้ทำการทดลองกับกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จำนวน 17 คน (ตามความสมัครใจ) เพราะภาษาเยอรมันที่ใช้ในการสอนในระดับมัธยมก็อยู่ในภาวะที่เด็กนักเรียนเริ่มไม่สนใจ หากทำตามหลักสูตรสาระการเรียนรู้ที่ สพฐ. ทำไว้คงไม่ประสบผลสำเร็จโครงการวิจัยฯนี้จึงได้นำกิจกรรมเข้าไปใส่ในการเรียนรู้ภาษาเยอรมันของนักเรียน เพราะการเรียนการสอนในห้องเรียนในคาบเรียนครูกับนักเรียนไม่สามรถจะสื่อสารอะไรกันได้เลย
หลังจากทำโครงการวิจัยนี้ ได้นำกิจกรรมเข้ามาเชื่อมต่อกับการเรียนปกติ ทั้งการใช้เจ้าของภาษามาร่วมสอน มีการสื่อสารกันรวมทั้งใช้กิจกรรมเรียนรู้จากสถานที่จริง โดยกำหนดสถานที่ให้นักเรียนได้ออกไปทำกิจกรรมกลุ่มในชั่วโมงเรียน โดยการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ด้วยการลงพื้นที่จริง เช่น วัดพระแก้ว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และได้แลกเปลี่ยนพูดคุยภาษาต่างประเทศในสถานการณ์จริงกับชาวต่างชาติ จนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนได้มีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้และสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม โครงการ “ฐานรากการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ” ถือเป็นเริ่มต้นที่ดี ที่ครูสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ช่วยในการแก้ปัญหาให้กับครูและผู้เรียน สามารถพัฒนาทักษะการฟัง-การพูดได้ในระดับหนึ่ง ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมีการช่วยเหลือกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน มีการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลาย และเกิดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวครูเอง แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งครูและนักเรียนเอาประสบการณ์ในการเรียนรู้ภาษาแบบเข้มนั้น มีการนำเข้าไปสอนในการเรียนประจำได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและหาวิธีพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณจากผู้บริหาร ไปพร้อมๆกัน ศ.ดร.ปราณี กล่าวในที่สุด.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร. 02-2701350-4 อีเมล์ [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit