กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ สวิตเซอร์แลนด์ แสดงรายงานผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนขณะมีอายุ 18 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิตในช่วงวัยกลางคน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติในช่วงที่เป็นวัยรุ่น โดยผลการสำรวจประชากรเด็กและวัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในประชากรกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวมากเกินหรือกำลังจะมีน้ำหนักตัวเกินจำนวนถึง 1 ใน 3 ส่วน หรือประมาณ 25 ล้านคน
คณะนักวิทยาศาสตร์ นำโดย ดร. แฟรค์ ฮู จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพและข้อมูลทางการแพทย์ในผู้หญิงจำนวนมากกว่า 100,000 คน อายุระหว่าง 24- 44 ปี ที่เข้าร่วมในโครงการการศึกษาสุขภาพของพยาบาล ซึ่งเป็นการวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐในการศึกษาปัญหาสุขภาพของผู้หญิง การศึกษาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2532 โดยทำการบันทึกข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูง รวมทั้งน้ำหนักตัวในช่วงอายุ 18 ปี ซึ่งพบว่าในระยะเวลา 12 ปีต่อมา มีผู้เสียชีวิตจำนวน 710 คน
คณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลข้อมูลในรายงานประจำปีของแพทย์ประจำบ้าน โดยเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการตายพบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเมื่อมีอายุ 18 ปี นั้นมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเสียชีวิตในช่วงวัยกลางคน และหากยิ่งมีน้ำหนักตัวมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นเท่านั้น สาเหตุของการตายที่พบมาก คือ การตายจากโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งมดลูกและมะเร็งไต และรองลงมาคือ โรคหัวใจ
ผลการศึกษาพบว่าหญิงวัยรุ่นที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปนั้น มักชอบดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ รวมทั้งออกกำลังกายน้อย ซึ่งหญิงวัยรุ่นที่มีน้ำหนักตัวมากขณะมีอายุ 18 ปีนั้นมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเกินเมื่ออายุ 34 ปี ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยไม่ได้ศึกษาถึงว่ามีการตายลดลงหรือไม่ถ้าหญิงวัยรุ่นนี้มีน้ำหนักตัวลดลงและรักษาน้ำหนักไว้ให้คงที่หลังจากอายุ 18 ปีไปแล้ว
ดร. ฮู ได้กล่าวว่า “ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้น จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่เสียอีก ดังนั้น โรคอ้วนในวัยเด็กนั้นจำเป็นต้องได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วน” โดยมีรายงานผลการวิจัยชิ้นอื่นที่ได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนในวัยเด็กและการเกิด โรคหัวใจในผู้ใหญ่
มร. ไมเคิล ทุน สมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “โรคอ้วนนั้นเป็นโทษต่อสุขภาพและทำให้อายุขัยสั้นลง ซึ่งการที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของเด็กอ้วนและเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน จะทำให้สุขภาพโดยรวมในอนาคตเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากโรคอ้วน” เราคงต้องลบภาพเดิมๆ ที่ว่าเด็กอ้วนนั้นน่ารักตุ้ยนุ้ย แล้วหันมาใส่ใจดูแลลูกหลานเราตั้งแต่เล็กๆ อย่าปล่อยให้อ้วนกันดีกว่า...
รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ :
ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และศูนย์ผู้บริโภคเนสท์เล่ ประเทศไทย
โทร. 0-2657 8657 e-mail: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit