ICCA มั่นใจการเมือง-ความปลอดภัย เดินหน้าจัดประชุมใหญ่สมาชิกในไทย

16 Feb 2007

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ไอเดียลิสท์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ICCA สมาคมยักษ์ใหญ่ด้านการประชุมนานาชาติของโลก เชื่อมั่นความปลอดภัย-การเมืองไทย เดินหน้าจัดประชุมใหญ่สมาชิก “ICCA Congress 2007” ที่ศูนย์ประชุมพีช พัทยา หวังยกมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดตลาดกลุ่มผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจรุ่นใหม่ภูมิภาคเอเซีย ระบุธุรกิจการประชุมสัมมนาเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกระแสปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ

ด้าน สสปน.คาดมีผู้เข้าประชุม 800 คนจาก80ประเทศทั่วโลก เม็ดเงินสะพัดกว่า 70ล้านบาท ดันไทยสู่ศูนย์กลางไมซ์ในเอเชียปี 2552 ตามเป้า

มร.มาร์ติน ซิร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association – ICCA) หรือ “อิกก้า” ซึ่งเป็นสมาคมนานาชาติที่มีภารกิจเกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของโลก เปิดเผยว่า อิกก้ามีความมั่นใจในเสถียรภาพการเมืองและสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศไทย ดังนั้น อิกก้าจึงยังคงเดินหน้าจัดงานประชุม 46th ICCA Congress 2007” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 -31 ตุลาคม 2550 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าพัทยา (Pattaya Exhibition and Convention Hall – PEACH) ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา

การประชุมดังกล่าว ถือเป็นการจัดงานการประชุมใหญ่ประจำปีและนิทรรศการครั้งที่ 46 ของสมาคมฯ โดยจะมีการจัดการประชุมหมุนเวียนไปทั่วโลก และมีโอกาสในการจัดในภูมิภาคเอเชียเพียง 3 ปี ต่อครั้งเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานบริการในธุรกิจไมซ์ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิก และส่งเสริมการจัดการประชุมนานาชาติ

“การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อมาดูการทำงานในรายละเอียดต่างๆ เพราะในหลักการใหญ่ๆได้วางไว้หมดแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดการประชุมในประเทศไทย ครั้งแรกจัดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราคิดว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถบอกได้ว่าปลอดภัยสมบูรณ์แบบ เพราะมีความรุนแรง ภัยต่างๆ ระเบิด โจรกรรมทุกรูปแบบ โรคภัยไข้เจ็บ แต่ควรมีการรายงานอย่างตรงไปตรงมา “ มร.มาร์ตินกล่าวและว่า

แต่สำหรับประเทศไทย สมาคมฯ มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมือง และความปลอดภัย เพราะเห็นได้จากการรายงานของสื่อมวลชนถึงผลบวกของการปฎิวัติครั้งนี้ และไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ รวมถึงไม่มีการยกเลิกการประชุม หรือทัวร์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต่างชาติทั่วโลกเข้าใจในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย

“การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติ และมีการเตรียมงานมานาน เรายืนยันจะไม่มีการเลื่อน และจะเดินหน้าจัดงานต่อไป ขณะที่สมาชิกอิกก้าทุกคนมีความเชื่อมั่นและตระหนักถึงปัญหา จะมาร่วมประชุมกันเหมือนเดิม ไม่หวั่นไหวกับปัจจัยภายนอก เพราะเรามีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น “มร.มาร์ตินกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากการมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานที่โดดเด่น เช่น การที่ไทยเสนอจัดการประชุม Summit ก่อนหน้าการประชุม เพื่อดึงดูดผู้ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอิกก้าในภูมิภาคนี้ เข้าร่วมในอิกก้า เช่น ลาวเป็นต้น และยังเสนอให้มีการจัดประชุม 2 วัน สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสได้รับประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการจัดการประชุมนานาชาติ(MICE) และโอกาสพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน

นอกจากนี้ มีประเด็นอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนรู้ในธุรกิจนี้ในขั้นสูงขึ้นไป อีกทั้งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตในตลาดไมซ์ได้อีกมาก สิ่งสำคัญปีนี้เป็นปีมหามงคลของการเฉลิมฉลองครบรอบพระชนมายุครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนี่คือเหตุผลที่ทำให้อิกก้าเลือกไทยแทนที่จะไปจัดการประชุมที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ทั้งที่ทุกประเทศมีความพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีของอิกก้าครั้งนี้

มร.มาร์ติน กล่าวด้วยว่า การจัดประชุมในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ศึกษาและเรียนรู้หลักการบริหารการจัดการ การตลาดยุคใหม่ และนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ และมุ่งสร้างความได้เปรียบการแข่งขันเชิงธุรกิจให้กับสมาชิกในตลาดการประชุมระดับชาติ และเป็นโอกาสให้สมาชิกใช้เวทีนี้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนธุรกิจระหว่างกัน

สำหรับการจัดการประชุมครั้งนี้จะเน้นเจาะไปที่สามกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกคือผู้บริหารระดับสูงระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการ และเจ้าของธุรกิจ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นระดับผู้อำนวยการฝ่ายขายอาวุโส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และกลุ่มที่สามเป็นระดับผู้จัดการ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร

“แน่นอนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดครั้งนี้คือประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องใช้จ่ายเงิน คนที่มาประชุมเหมือนเป็นทูตช่วยโปรโมทประเทศไทย เพราะบุคคลเหล่านี้อยู่ในธุรกิจไมซ์โดยตรง สามารถแนะนำและช่วยเปิดตลาดให้ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง และผลในระยะยาว ไทยสามารถสร้างตลาดไมซ์ผ่านผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้”มร.มาร์ตินกล่าว

ภาพรวมของธุรกิจไมซ์ (MiCE : Meeting Incentive Convention and Exhibition) โดยเฉพาะกลุ่มการประชุมสัมมนานานาชาติยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของสภาพทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกระแสการค้าเสรีในปัจจุบันส่งเสริมให้มีการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจในทุก ๆ ด้าน

“หากว่าประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจไมซ์จำเป็นต้องพัฒนาในด้านบุคลากรทั้งระบบเพื่อให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาระบบธุรกิจไมซ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบลูกค้าสัมพันธ์ หรือ Customer Relationship Management เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” มร.มาร์ติน กล่าว

ปัจจุบันอิกก้า มีสมาชิกกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิก 60% มาจากยุโรป และ40% จากประเทศแถบเอเซีย .ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยองค์กรสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการประชุมนานาชาติ อาทิ บริษัทนำเที่ยว สายการบิน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและท่องเที่ยวของประเทศ โรงแรม สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ เป็นต้น โดยสมาคมจะมีการประชุมประจำปีระหว่างเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายนของทุกปี และในปีนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 46 ที่พัทยา

ด้านร้อยเอกขจิต หัพนานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(สสปน.) และประธานคณะกรรมการสมาคมการประชุมนานาชาติประจำประเทศไทย (ICCA Thailand Committee) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 800 คน จากสมาชิก 80 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 70 ล้านบาท และมียอดการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 22,000 บาท สำหรับผลในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยสามารถสร้างตลาดไมซ์ ผ่านผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกในครั้งนี้ได้เป็นอย่างมาก และจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2552 ได้ตามเป้าหมาย

และเพื่อให้การประชุม ICCA ครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยและภูมิภาค คณะกรรมการสมาคมการประชุมนานาชาติประจำประเทศไทย (ICCA Thailand Committee) โดยมี สสปน. เป็นแกนนำ ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาคขึ้นอีก 2 งานประกอบด้วย The Asian Meetings Industry Leaders Summit โดยจะเชิญผู้นำในวงการธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติของเอเชียเข้าร่วมประชุม เพื่อหาทางร่วมมือกันในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย และงานประชุม The Asian Meetings Industry Young Professional Conference ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ ซึ่งทั้ง 2 งานประชุมจะมีขึ้นที่โรงแรมรอยัลคลิฟ พัทยาในช่วงก่อนและระหว่างงานประชุม 46th ICCA Congress จึงเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสสัมผัสกับนักธุรกิจชั้นนำในวงการธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net