เจโทรจัดเทศกาลอาหารญี่ปุ่นจากคิวชู ‘Kyushu, Japan Food Promotion 2007’

21 Feb 2007

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--เจโทร

แนะนำผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพเยี่ยมจากเกาะคิวชู ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตรและการประมง เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของญี่ปุ่น

20% ของมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมดในญี่ปุ่น เพาะปลูกในคิวชู

มูลค่าการนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 26% ด้วยระบบการขนส่งทีมีศักยภาพยิ่งขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพ จัดงานเทศกาลอาหารญี่ปุ่นจากคิวชู หรือ ‘Kyushu, Japan Food Promotion 2007’ โดยภายในงานมีการจัดแสดงอาหารและสาธิตการทำอาหารญี่ปุ่น เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพชั้นยอดจากเกาะคิวชู ดินแดนทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่นซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก งานดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรมอโนมา

มร. โยอิชิ คาโต ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า “ ‘Kyushu, Japan Food Promotion 2007’ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แคมเปญส่งเสริมอาหารญี่ปุ่น ‘Japan Food Fair’ ซึ่งเจโทรจัดขึ้นตึ้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยมีความมุ่งเน้นสองประการ คือ หนึ่ง เพื่อส่งเสริมการส่งออกอาหารจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย และ สอง เพื่อแนะนำอาหารรสชาติดั้งเดิมสไตล์ญี่ปุ่นโดยไม่ผ่าน การปรุงแต่ง รวมถึงสนับสนุนให้สัมผัสประสบการณ์อาหารญี่ปุ่นในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยการลิ้มลองอาหาร เครื่องปรุง หรือสูตรอาหารที่ยังไม่เคยรับประทาน ตลอดจนทำความรู้จักกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารตามมารยาทแบบญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์แบบ”

มร. เซอิจิ ทาโซ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการค้า เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ประเทศไทยนำเข้าอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับ 6 โดยนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 100 ประเภท ซึ่งรวมทั้งหมดกว่า 4,000 รายการ มีมูลค่ารวม 141,645,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2548 ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นที่นิยมได้แก่ ปลาทูน่าสำหรับซาชิมิ ปลาซันมะ ซุปมิโสะ หอยเชลล์ และแอปเปิ้ล ส่วนจังหวัดสำคัญที่นำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นได้แก่ กรุงเทพ สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ และเมืองศรีราชา โดยมูลค่าการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเพิ่มจาก 112,338,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 141,645,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2548 หรือคิดเป็น 26% ทั้งนี้ แนวโน้มการนำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพของอาหารมากขึ้น อีกทั้งการสั่งอาหารและการขนส่งยังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย”

มร. ทาโซ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเลือกแนะนำอาหารญี่ปุ่นจากเกาะคิวชูในครั้งนี้ เนื่องจากคิวชูมีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านความมีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งนี้ คิวชูเป็นหนึ่งในพื้นที่เพาะปลูกและผลิตอาหารที่สำคัญของญี่ปุ่น ผืนดินในเกาะคิวชูอุดมด้วยแร่ธาตุซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากเถ้าภูเขาไฟอาโอะซึ่งตั้งอยู่ในกลางของเกาะ นอกจากนี้ ผืนน้ำทะเลรอบเกาะคิวชูมีปลาคุณภาพดีและอาหารจากทะเลมากมาย ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิดสำหรับ Kyushu, Japan Food Promotion 2007 ที่ว่า ‘Blessings the Nature Brings’ ”

มร. ทาโซ กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์อาหารจากคิวชูที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ได้แก่ ผลไม้รสดี ผักสดกรอบ ปลาสด ปลาแดดเดียว อาหารแปรรูป เช่น เยลลี่ บุก และซุปมิโสะ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเด่นประจำปีนี้ได้แก่:

สตรอเบอร์รี่ ฮิโนะชิซึคุ (Hinoshizuku) จาก คิวชู: ‘หยาดฝนจากแสงแดด’

สตรอเบอร์รี่ ฮิโนะชิซึคุ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น มีขนาดใหญ่กว่า สตรอเบอร์รี่จากพื้นที่อื่น และว่ากันว่ามีรสชาติหวานล้ำที่สุดในโลก สตรอเบอร์รี่ ฮิโนะชิซึคุ มีสีแดงสดสวย โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าหมายถึงโชคลาภและความสุขสมหวัง ราคาของสตรอเบอร์รี่ ฮิโนะชิซึคุ อยู่ที่ประมาณ 35-40 บาทต่อหนึ่งผล

เมลอน เอรัส (Arus) จากคิวชู: ‘ราชาแห่งผลไม้ญี่ปุ่น’

เมลอน เอรัส เป็นของขวัญอันดับหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมอบให้แก่กัน เพราะความสวยงามของลวดลายตาข่ายที่งามแปลกตาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กลิ่นหอมหวานกำจายเหมือนน้ำหอมจากกวางมัสค์ และรสชาติหวานชุ่มชื่นใจ ราคาสูงสุดสำหรับเมลอน เอรัส ในญี่ปุ่นคือกว่า 7,000 บาทต่อหนึ่งผล

ปลาทูน่า คุโระ มากุโระ (Kuro Maguro) จากคิวชู: บลูฟิน

คุโระ มากุโระ มีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษเนื่องจากเนื้อปลามีความสดใหม่ รวมถึงมีริ้วไขมันและน้ำมันที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีขนาดใหญ่ที่สุดจากปลาทูน่าทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คุโระ มากุโระ ที่โตเต็มที่จะมีความยาว 300 ซ.ม. คุโระ มากุโระ ได้รับการขนส่งทางอากาศเพื่อรักษาความสดใหม่ เนื่องจากนิยมรับประทานกันสดๆ ในรูปแบบของซาชิมิ

ปลาอาจิเซกิ และปลาซาบะเซกิ (Seiki Aji and Seiki Saba) จากคิวชู: ปลาแมคเคอเรล

ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลาสองชนิดนี้อยู่ที่ช่องแคบบังโงะ (Bungo Channel) ซึ่งเป็นรอยแยกท่ามกลางมหาสมุทรที่แบ่งแยกเกาะคิวชูกับเกาะชิโคขุ มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงเป็นสถานที่ที่เข้าถึงยาก อีกทั้งต้องใช้วิธีการประมงแบบพิเศษโดยการตกปลาเพื่อจับทีละหนึ่งตัว ปลาอาจิเซกิและปลาซาบะเซกิจึงมีขนาดใหญ่กว่า เนื้อแน่นกว่า และมีความยืดหยุ่นกว่าปลาสายพันธุ์เดียวกันจากน่านน้ำอื่น และเป็นที่ยอมรับกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในญี่ปุ่น

ปลาอาจิแดดเดียว (Dried Aji) จากคิวชู: ‘ฮอร์ส แมคเคอเรล’

ปลาอาจิ เป็นปลาทูชนิดพิเศษที่ชาวประมงญี่ปุ่นจับขึ้นมาจากทะเลคิวชูที่ใสสะอาด และแปรรูปเป็น ปลาแดดเดียวโดยใช้ทักษะการแปรรูปแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นเพื่อรักษาความสดมันตามธรรมชาติ ปลาทูอาจิแดดเดียวจากคิวชูได้รับความนิยมรับประทานเป็นอาหารจานหลัก เพราะมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารสูง

บุก ฮอนเตะโนเบะ คอนยัคขุ (Hontenobe kon-nya-ku) จากคิวชู

บุกเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งในญี่ปุ่นและในโลก ทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีว่าบุกมีไฟเบอร์สูง ไร้ไขมัน และมีแคลอรี่ต่ำ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์บุกมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น เส้นหมี่บุก บุกแบบก้อนสี่เหลี่ยม หรือวุ้นจากบุก ตามวัตถุประสงค์การทำอาหาร

“อาหารญี่ปุ่นมีรสชาติดีและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความชื่นใจเมื่อได้มองเห็นการจัดเตรียมอาหารที่งดงามได้ทัดเทียมกับความประทับใจจากรสชาติเมื่อได้รับประทาน เพราะอาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับการยอมรับว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีการตกแต่งและตระเตรียมอาหารอย่างประณีต ทั้งยังมีคุณค่าต่อร่างกายและจิตใจของผู้รับประทาน โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับอาหารตามฤดูกาลเป็นอย่างดี” มร. โยอิชิ คาโต ประธานเจโทร กรุงเทพฯกล่าวสรุป

Kyushu, Japan Food Promotion 2007 หรือ ”เทศกาลอาหารญี่ปุ่นจากคิวชู” จัดขึ้นโดยความร่วมมือ อันดีระหว่างเจโทร กรุงเทพฯ และสำนักงานเจโทรในคิวชู ได้แก่ ฟุคุโอกะ นางาซากิ คุมาโมโตะ โออิตะ มิยาซากิ และคาโกชิม่า

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักธุรกิจให้ความสนใจเข้าร่วม Kyushu, Japan Food Promotion 2007 เป็นจำนวน 300 คน โดยเฉพาะผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศ รวมถึงภัตตาคารและโรงแรมชั้นนำ

สำหรับงาน “Japan Food Fair” สองครั้งที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ได้สนับสนุนให้เกิดการเจรจาธุรกิจถึง 6,400 รายภายในงาน และผู้สนใจเข้าร่วมงานถึง 80,000 คน

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ

คุณชุติมา ดวงพาณิช ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจโทร กรุงเทพฯโทร 0 2553 6441 ต่อ 147