กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
ส.ผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ใช้ยุทธวิธี “เกลือจิ้มเกลือ” จี้กรมประมงใช้ ไออาร์เอ และ/หรือมาตรการเทียบเท่า เข้มนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ออสซี่
ทันแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง อธิบดีกรมประมง ขอให้พิจารณาใช้มาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการนำเข้าหรือไออาร์เอ (Import Risk Analysis – IRA) และ/หรือมาตรการที่เทียบเท่ากับสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ที่นำเข้าจากเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไวรัส GAV และ MoV ที่อาจปนเปื้อนเข้ามาทำลายกุ้งไทย เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ หลัง BA กำลังพยายามใช้มาตรการ IRA กีดกันกุ้งไทยโดยกล่าวอ้างว่ากุ้งไทยอาจปนเปื้อนไวรัส 5 ชนิด ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน พร้อมส่งข้อมูลวิชาการ/รายงานการแพร่ระบาดโรคไวรัส GAV และ MoV ที่มีเฉพาะในเครือรัฐออสเตรเลียให้ และสำเนาจดหมายดังกล่าวถึงหน่วยงานความปลอดภัยทางชีวภาพออสเตรเลีย หรือ Biosecurity Australia (BA) เพื่อทราบด้วย
“ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้ค้นพบข้อมูล/รายงานการแพร่ระบาดโรคไวรัส จีเอวี (GAV) และเอ็มโอวี (MoV) ที่เครือรัฐออสเตรเลียมี ในขณะที่ประเทศอื่นไม่มี รู้สึกเป็นห่วงและเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ในปริมาณและมูลค่าหนึ่ง ทำให้เกรงว่ามีความเสี่ยงสูงมากต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งไทยได้ หากสัตว์น้ำที่นำเข้ามานั้นปนเปื้อนโรคไวรัสดังกล่าวเข้ามาด้วย อาจแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและติดต่อไปยังสัตว์น้ำและกุ้งต่างๆ ที่สำคัญอาจจะแพร่กระจายเข้าไปติดต่อในวงจรการผลิตกุ้งเลี้ยงอันได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ ฯลฯ (ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 80,000 ล้านบาท ทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนในภาคส่วนต่างๆ อีกกว่า 1 ล้านคน) ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหา และ/หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับสัตว์น้ำ/กุ้งในเครือรัฐออสเตรเลียเท่านั้น ที่หากมีการแพร่ระบาดมายังประเทศไทย อาจสร้างความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการป้องกันเข้มแข็ง เฉกเช่นเดียวกับที่เครือรัฐออสเตรเลียใช้ Import Risk Analysis (IRA) ปฏิบัติกับสินค้ากุ้งไทย” ท.พ. สุรพล กล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเปิดผนึก พร้อมส่งข้อมูลวิชาการยืนยันให้กรมประมงในฐานะกำกับดูและงานด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาติทราบ เพื่อให้พิจารณาออกมาตรการ Import Risk Analysis – IRA และ/หรือมาตรการที่เทียบเท่า กับสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ที่นำเข้าจากเครือรัฐออสเตรเลียเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไวรัส GAV และ MoV ที่อาจปนเปื้อนเข้ามา เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยด่วนทีสุดด้วย ขณะเดียวกันสมาคมฯก็ได้ส่งสำเนาจดหมายเปิดผนึกนี้ให้กับออสเตรเลีย เพื่อให้ทราบว่าสินค้าสัตว์น้ำของออสเตรเลียเองอาจปนเปื้อนไวรัสก่อโรค ไปแพร่ระบาดในประเทศที่นำเข้าต่างๆได้ มาตรการ IRA ที่ออสเตรเลียจะประกาศใช้ เป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศอื่นๆ นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit