ปภ.เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน

07 Mar 2007

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ปภ.

กรมป้องกันฯ เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังภัยจากพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคมนี้ พร้อมทั้ง ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์และเตรียมการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนเกษตรกรและประชาชนระวังอันตรายจากลมพายุฟนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตก ฟ้าผ่าและภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนระมัดระวังภัยจากพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคมนี้ เนื่องจากประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งจะมีลักษณะของพายุฟนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นในบางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว กรมป้องกันฯ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ปฎิบัติงานติดตามตรวจสอบสถานการณ์เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอทำการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมและเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม ก็จะสามารถลดความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนหมั่นดูแลและซ่อมแซมบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาให้แข็งแรง

เพราะอาจโดนลมพายุพัดสร้างความเสียหายและป้ายอาจหักโค่นลงมาทับผู้อื่นได้ ส่วนเกษตรกรควรหาไม้ค้ำยันกิ่งของต้นไม้เพราะหากถูกลมพายุพัด ก็จะช่วยลดความเสียหายได้ และในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หากอยู่กลางแจ้งควรหลบเข้าไปอยู่ในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคง แข็งแรง ให้ออกห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ลวด โลหะ แนวรั้วบ้าน ต้นไม้ เป็นต้น ไม่ใส่เครื่องประดับที่มีโลหะนำไฟฟ้า เช่น ทองเดง ทองเหลือง และงดใช้โทรศัพท์มือถือชั่วคราว เพราะอาจเป็นสื่อที่ทำให้ฟ้าผ่าได้ และไม่ควรนำเรือออกจากฝั่งในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง

เพราะอาจได้รับอันตรายจากการโดนพายุซัดออกจากฝั่ง และอาจทำให้เกิดเรือล่มได้ และสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือ ขนย้ายทรัพย์สินไปยังพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือต่อไป