กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--สมาคมกุ้งไทย
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงกรณีการตาย ของนายสำเริง เทียนย้อย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมกุ้งไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องช็อควงการกุ้ง โดยเฉพาะภาคส่วนการส่งออก เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะบุคคลท่านนี้ถือเป็นตำนานผู้มีประสบการณ์ยาวนานด้านการค้าการส่งออกกุ้งระดับประเทศ ที่บุกเบิกพัฒนาการซื้อ-ขายกุ้ง แกะเปลือกกุ้ง (ล้ง) และต่อมาเป็นผู้ประกอบการโรงงานห้องเย็นแปรรูปกุ้งรายใหญ่ เป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิต แต่ต้องมาเสียชีวิตเพราะแรงกดดันทางการค้า ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นผลจากมาตรการภาษีทุ่มตลาด หรือเอดี และมีการวางเงินค้ำประกันภาษีเอดีล่วงหน้ามูลค่าสูง หรือที่รู้จักกันไนนาม ซี-บอนด์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมจากสหรัฐอเมริกา
“ในฐานะตัวแทนสมาคมกุ้งไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของคุณสำเริง เทียนย้อย ประธานชมรมผู้ซื้อกุ้งไทย ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ในการจากไปของท่าน ในฐานะที่ บจก. สยามยูเนี่ยน โฟรเซ่น ฟูดส์ เป็นสมาชิกของสมาคมกุ้งไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นบุคคลที่มีฝีมือ ที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมกุ้งยอมรับ ตามข่าวท่านถูกแรงบีบคั้นเรื่องธุรกิจ ผลจากค่าเงินบาทแข็งตัว แต่ด้วยบริษัทของท่านส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของประเทศ มีสัดส่วนในการส่งกุ้งไปอเมริกามาก ฉะนั้นผลกระทบจากมาตรการ เอดี และการวางคอนทินิวอัส บอนด์ (Continuous bond) หรือซี-บอนด์ มีส่วนอย่างมากในความหายนะ/ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรต้องเกิดกับผู้ส่งออกรายใดอีก การที่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตต้องมารับเคราะห์กับมาตรการกีดกันที่ไม่เป็นธรรมของอเมริกาในครั้งนี้ เป็นเรื่องโหดร้ายมาก ...เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าจะบีบคั้นกดดันผู้ส่งออกไปอีกนานแค่ไหน คงจะไม่มีผู้ที่รับเคราะห์จากมาตรการซีบอนด์นี่อีกต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีการนำเข้ากุ้งในปริมาณสูง ปี 2549 นำเข้าปริมาณ 590,299 ตัน โดยไทยส่งเข้าไปร้อยละ 33 หรือปริมาณ 193,764 ตัน เมื่อ 31 ธันวาคม 2547 ไทย และอีก 5 ประเทศถูกกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ (Southern Shrimp Alliance –SSA) ฟ้องว่ากุ้งไทยเข้าไปทุ่มตลาด สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้กุ้งไทยที่ส่งเข้าไปถูกเก็บภาษีเอดี และให้ผู้ส่งออกต้องวางเงินค้ำประกันภาษีเอดีล่วงหน้าระยะยาว หรือซี-บอนด์ ในมูลค่าสูงมาก อย่างไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) ตามที่ทราบกัน ที่สำคัญเอดี ทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งแพงขึ้นประมาณร้อยละ 20 ทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระนี้ ไหนจะค่าทนายทั้งสองทาง ก็ล้วนต้องไปจ้างทนายความอเมริกัน ต้องไปจ่ายให้กับ SSA และค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ ซึ่งสูงมาก ไหนจะต้องไปวางบอนด์มูลค่าสูงมาก ของเก่าไม่ได้คืน ของใหม่ก็ต้องไปวางเพิ่ม ฯลฯ เป็นมาตรการกีดกันการค้าที่โหดร้ายมากครับ นี่ก็ไม่รู้ว่าผู้ส่งออกไทยจะทนกันได้แค่ไหน หรือต้องสังเวยชีวิตไปอีกกี่คน นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย
นายกสมาคมกุ้งไทย
โทร. 081-8302448
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit