เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู...ระวังหมูขาดตลาดช่วงปลายปีเหตุมีความต้องการบริโภคสูง

05 Sep 2006

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกโรงเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ระมัดระวังการเกิดโรคปากเท้าเปื่อย (FMD) และโรคเพิร์ธ (PRRS) อย่างยิ่งยวด เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงหน้าฝนซึ่งจะทำให้สุกรเกิดภาวะโรคดังกล่าวได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ฝนตกหนัก หรือน้ำท่วม ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคก็อยู่ในขั้นขาดแคลน

นายสุรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันพบข้อมูลความเสียหายจากโรคเพิร์ธที่เกิดขึ้นกับลูกหมูในเล้าอนุบาลแล้วประมาณ 25-30% ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงปริมาณเนื้อหมูในช่วงปลายปีแน่นอน ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายปีก็จะมีปัจจัยบวกที่ก่อให้เกิดความต้องการบริโภคเนื้อหมูในอัตราที่สูงขึ้น อาทิเช่น เทศกาลบุญบั้งไฟ งานราชพฤกษ์ งานลอยกระทง หรือเทศกาลปีใหม่ เมื่ออุปสงค์-อุปทานสวนทางกันเช่นนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเนื้อหมูสำหรับบริโภคในช่วงดังกล่าวได้ แม้ภาวะราคาเนื้อหมูจะสูงมากขึ้นก็ตาม ดังนั้น หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสามารถระมัดระวังป้องกันโรคดังกล่าวได้ ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดทีเดียว

“ปลายปีนี้ราคาเนื้อหมูมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจัยบวกมากมาย แต่ถ้าหากเกษตรกรไม่ระมัดระวังปัองกันโรคดังกล่าวให้ดี ก็จะไม่สามารถผลิตเนื้อหมูออกจำหน่ายได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการบริโภค ทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ” นายกฯกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสุรชัยมีความมั่นใจว่า ทางกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการผลิตวัคซีนป้องกันโรคนั้นมิได้นิ่งนอนใจ และกำลังอยู่ระหว่างการเร่งผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

อนึ่ง นายสุรชัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการผลิตสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Broad ที่ผลักดันกันมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ได้บรรลุความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2549 และได้กลายเป็นกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ดังนั้น ขอให้เกษตรกร, ผู้ประกอบการด้านแปรรูปสุกร ผู้ประกอบการด้านโรงฆ่าสัตว์ ผู้ประกอบการด้านยาสัตว์ และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งหมด ปฏิบัติตามข้อกฎหมายในกฤษฎีกาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย และยกระดับอุตสาหกรรมสุกรเข้าสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัยหรือ Food Safetyของประเทศไทย.

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net