กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--วว.
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากการที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ร่วมกับบริษัทสยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด
บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง “โครงการประกวดต้นแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมไทย” ขึ้นนั้น มีผู้สนใจจากหลากหลายสาขาอาชีพทั่วทุกภูมิภาคส่งผลงานร่วมประกวดทั้งสิ้น 320 ผลงาน ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่ได้รับการออกแบบตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดความคิดริเริ่มในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุรวมถึงรูปแบบที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ มีการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมไทยสู่ระดับสากล
สำหรับการตัดสินการประกวดต้นแบบบรรจุภัณฑ์ฯ ดังกล่าว วว. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรจุภัณฑ์และผู้มีประสบการณ์ในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ดังนี้ บริษัทสยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด
บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด บริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยและศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินผลงาน จะครอบคลุมเกี่ยวกับ...ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การใช้งาน การออกแบบสวยงาม สะดุดตาผู้บริโภค/การมีประสิทธิภาพในการสื่อความหมาย
โอกาสในการผลิตเชิงการค้าและความประทับใจโดยรวม นอกจากนี้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบและไม่เคยได้รับรางวัลที่ใดมาก่อน
ผลงานต้นแบบบรรจุภัณฑ์ฯ ที่ส่งเข้าประกวด ต้องประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์รวมหน่วยที่มีบรรจุภัณฑ์หน่วยย่อยบรรจุอยู่ภายในตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป และมีการระบุรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อตราสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ วัน/เดือน/ปีที่ผลิตและหมดอายุ เครื่องหมาย อย./บาร์โคด คำแนะนำในการเก็บรักษาและข้อมูลประกอบอื่นๆ
สำหรับชนิดของผลิตภัณฑ์ขนมไทยที่จัดประกวดนั้น ให้ผู้ส่งผลงานเลือกจากที่กำหนดจำนวน 20 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน ลูกชุบ ขนมชั้น ปุยฝ้าย กลีบลำดวน หน้านวล อาลัว วุ้นกรอบ ทองเอก จ่ามงกุฎ ทองม้วน ทองพับ นางเล็ด ครองแครง ขนมผิง มะพร้าวแก้ว ฝอยทองกรอบ และให้บรรจุหุ่นจำลองของผลิตภัณฑ์ขนมไทยในรูปแบบที่มีอยู่ทั่วไป หรือสร้างสรรค์รูปแบบของขนมขึ้นใหม่บรรจุในต้นแบบบรรจุภัณฑ์ฯ ด้วย
จากการตัดสินของคณะกรรมการฯ ผลปรากฏว่า มีผลงานที่ได้รับรางวัล ดังนี้
รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและ ใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมรางวัล TOPPAN PRIZE เข้าร่วมชมนิทรรศการ TOKYO PACK 2006 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 30 กันยายน- 6 ตุลาคม 2549 ได้แก่
ผลงานมะลิทอง ของนางสาววรรณภรณ์ แซ่โง้ว
โดยใช้ใบตองเป็นแนวความคิดในการออกแบบ มีการนำลายไทยมาประยุกต์เป็นสื่อนำเสนอความเป็นไทย สำหรับการใช้งาน บรรจุภัณฑ์ภายนอกใช้จำหน่ายเป็นของขวัญหรือของฝาก ส่วนบรรจุภัณฑ์ย่อยภายในสามารถแยกขายเป็นชิ้นๆได้
รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณ
ได้แก่ ผลงานบัวตูม บัวบาน ของนายเศรษฐ์พล แย้มสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีแนวคิดในการใช้ดอกบัว ซึ่งสื่อถึงความหมายที่ดีและแสดงถึงความเป็นไทย นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่คนในสมัยก่อนใช้ในงานหรือพิธีที่สำคัญ กลีบดอกบัว คือ สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อบ่มเกสรอันมีค่าซึ่งในที่นี้แทนเกสรด้วยขนมไทยที่น่ากิน การออกแบบบรรจุภัณฑ์รูปกลีบดอกบัวนี้สามารถที่จะจำหน่ายได้ทั้งแบบกลีบเดี่ยว หรือนำกลีบดอกบัวมาประกอบกันเป็นดอกบัว นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็น Display เป็นดอกบัวตูมมาวางซ้อนกันบนฐานที่มีกลีบดอกบัว 4 กลีบ
รางวัลที่ 3 และ รางวัลความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จำนวน 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงาน Flower ของนายธนวรรธก์ มัติโก
มหาวิทยาลัยศิลปากร มีแนวคิดการออกแบบจากความงามของดอกไม้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ถ่ายทอดออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ โดยบรรจุภัณฑ์รูปดอกไม้นี้สามารถแยกเป็นชิ้นเดี่ยว หรือรวมเป็นกลุ่ม และสามารถรวมเป็นช่อดอกไม้เพื่อมอบเป็นของขวัญให้ในงานเทศกาลต่างๆได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชย
จำนวน 10 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานลายคราม สายน้ำกับวิถีไทย แก้วเจ้าจอม ขนมไทยเจ้าคุณจุก ตำรับไทย ขนมไทยเทียนหอม
วรรณาขนมไทยชาววัง SWEET CARD
บุษบันและกำไลทอง
ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลทุกประเภท ถือเป็นเป็นสิทธิ์ของ วว. และจะเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานให้แก่ผู้ประกอบการตลอดจนผู้สนใจทั่วไป อันจะนำไปสู่การคัดเลือกมาผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งด้านบรรจุภัณฑ์ของประเทศต่อไป
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านบรรจุภัณฑ์ ได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. บางเขน
โทรศัพท์ 0 2579 5515, 0 2579 0160 , 0 2579 1121-30 ต่อ 3206 , 3208 , 3209 ในวันเวลาราชการ E-mail : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit