กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับศาลแรงงานกลาง สัมมนากฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน เพื่อเสนอแนวทางปรับปรุงระเบียบ และแนวปฏิบัติในการวินิจฉัยสั่งจ่ายเงินทดแทนให้มีประสิทธิภาพแก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เน้นให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตน 7 กรณี ได้แก่ การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงานส่วนพระราชบัญญัติเงินทดแทน เน้นให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานให้กับนายจ้าง ซึ่งลูกจ้าง/ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่าย ถ้าไม่เห็นด้วยสามารถอุทธรณ์และฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้
ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดโครงการสัมมนากฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน ระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับศาลแรงงานกลาง ในวันที่ 1 กันยายน 2549 นี้ ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติในการวินิจฉัยประโยชน์ทดแทนและเงินทดแทนให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรองรับปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยมีหัวข้อสัมมนาที่มุ่งเน้นให้ความรู้กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน รวมไปถึงการอภิปรายแนวทางการปฏิบัติ/ปัญหาการดำเนินการ และการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit