กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรรมการกิตติมศักดิ์ในการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดห้องสมุดมีชีวิต ทีเค ปาร์ค กล่าวว่า “เกณฑ์ในการตัดสินโครงการประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักใหญ่ๆ คือ ความชัดเจนในวิธีการดำเนินการที่จะปรับปรุงห้องสมุดให้มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มบุคลากร เพิ่มทรัพยากร และวิธีการที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อทำให้ห้องสมุดมีชีวิต
ไม่อยู่นิ่งๆ คนที่มาใช้ห้องสมุดได้รับความรู้และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนห้องสมุดมีชีวิตต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เสมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่พร้อมจะเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาตลอดเวลา หวังว่าห้องสมุดที่ได้รับรางวัลรวมไปถึงห้องสมุดที่ได้รับการคัดเลือกและผ่านการอบรม จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในห้องสมุดมีชีวิต จะช่วยสร้างเครือข่ายความรู้ในชุมชนโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เยาวชนรวมถึงประชาชนของชาติได้รับการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างดีที่สุด”
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งได้มาร่วมเป็นเกียรติในการมอบรางวัลแด่ผู้ชนะเลิศโครงการนี้ กล่าวว่า “ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งของสังคม รู้สึกดีใจและปลื้มใจอย่างยิ่งที่ ทีเค ปาร์ค จัดโครงการประกวดห้องสมุดมีชีวิต ทีเค ปาร์ค ขึ้น เพราะดิฉันอยากเห็นห้องสมุดมีชีวิตครอบคลุมไปทั่วประเทศไทย เพราะห้องสมุดมีชีวิต คือ พื้นที่ที่ยังมาซึ่งความสุขทุกครั้งที่ได้เข้า เร้าให้ผู้ใช้บริการอยากกลับไปเยือนเป็นนิจ นอกจากนั้น ห้องสมุดมีชีวิตควรจะมีหนังสือที่ถูกใจผู้ใช้บริการทุกเพศทุกวัย มีบรรณารักษ์ที่มีหัวใจบริการพร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ดิฉันเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีรวมทั้งเป็นการขยาย ทีเค ปาร์ค ต้นแบบไปสู่ชุมชน”
นงนภัส ชื่นเชาว์ไว บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดโรงเรียนบ้านม่วงสามปี จ.ลำพูน หนึ่งในห้องสมุดมีชีวิตที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ดีใจมากค่ะที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ แผนงานพัฒนาห้องสมุดของเราเสนอนั้นเน้นกลยุทธ์เรื่องชุมชนมาเป็นส่วนร่วม เน้นในเรื่องของผู้ใช้บริการและการให้บริการ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาใช้ในห้องสมุดเพื่อเอื้อความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล ตลอดจนการยืม การคืนหนังสือ ทำให้มีผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการถึงเกือบ 100 % และสามารถยืมหนังสือได้ ถึงแม้ไม่ได้พกบัตรมาก็ตาม นอกจากนี้ ยังมียุวบรรณารักษ์ที่เป็นเยาวชนมีมาตรฐานวิเคราะห์เลขหมู่ รู้จักการค้นคว้าข้อมูล เพื่อช่วยเหลือชุมชน พร้อมกับมีจิตใจรักการบริการและการอ่าน
สำหรับรางวัลเงินสด 100,000 บาท ที่ได้รับนั้น จะนำไปปรับปรุงพื้นที่และสภาพแวดล้อมของห้องสมุดให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่านหนังสือและการใช้บริการ เพราะห้องสมุดมีชีวิตต้องตอบสนองทุกความต้องการของผู้ใช้บริการ ให้ความสบายทั้งกายและจิตใจ”
ผ่องศรี ปิยะยาตรัง บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครระยอง จ.ระยอง หนึ่งในห้องสมุดมีชีวิตที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ห้องสมุดมีชีวิตเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้ามาแล้วต้องมีความสุข และได้รับความพึงพอใจกลับไป ซึ่งห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครระยองของเรามีจุดเด่นที่ใครที่มาใช้บริการก็จะรู้สึกผ่อนคลายกับพื้นที่ที่สามารถนั่งหรือนอนได้อย่างเต็มอิ่ม พร้อมพรั่งไปด้วยอุปกรณ์ไอทีและอินเตอร์เน็ต ด้านกิจกรรมนั้นก็มีเยาวชนเข้าร่วมอย่างมาก เช่น กิจกรรม Play and Learn เพลินวันอาทิตย์ เป็นการเปิดเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงออก, กิจกรรม Happy Book Day กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่าน หรือกิจกรรมล่าสุดตลาดนัดรวมพลเยาวชนคนเก่ง เป็นการแข่งขันหาคนเก่งรอบด้าน เป็นต้น เราพยายามที่จะบริหารทุกอย่างให้เหมาะสมสอดคล้องและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่เงินรางวัลที่ได้รับจากโครงการนี้นั้นทางห้องสมุดของเราจะนำไปซื้ออุปกรณ์ด้านไอทีและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดสู่ชุมชนเพิ่มเติม”
จินดา ปัญจเรือง บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดโรงเรียนเมืองเด็กวิทยา จ.เชียงใหม่ หนึ่งในห้องสมุดมีชีวิตที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ห้องสมุดของเรามีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีอุปสรรคเรื่องสถานที่เพราะเป็นห้องสมุดมุงจากอยู่ แต่เราก็มีหนังสือจำนวนมากและหลายประเภทให้เลือกอ่าน ทั้งยังสร้างบรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่นเสมือนอ่านหนังสือที่บ้านของตัวเองด้วยการนำวัสดุท้องถิ่น เช่น ตุง กระบอกไม้ไผ่ ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น มาตกแต่ง นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ครอบครัวรักการอ่าน โดยให้คนเฒ่าคนแก่มาอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง, กิจกรรมด้านหัตถกรรมจักสาน และวันนี้ดีใจมากค่ะที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ เงินที่ได้จะนำไปพัฒนาห้องสมุดในเชิงรุก กล่าวคือเราจะนำห้องสมุดของเราไปแนะนำให้ชุมชนได้รู้จัก เช่น หากมีหนังสือน่าอ่านเราก็จะนำไปประชาสัมพันธ์ที่ศูนย์กระจายข่าวของชุมชน, จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยนำตู้หนังสือขนาดเล็กไปวางไว้ที่บ้านของผู้ปกครองหมุนเวียนกันไป รวมถึงการจัดสรรเป็นงบประมาณผลิตสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือเด็ก นิทาน หนังสือภาพเพิ่มเติมค่ะ”
จุรี ศรัยทอง บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดประชาชนจ.สงขลา จ.สงขลา หนึ่งในห้องสมุดมีชีวิตที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ทราบการประกวดโครงการนี้จากหนังสือพิมพ์ แล้วรู้สึกว่าโครงการนี้น่าสนใจ เพราะในวงการห้องสมุดไม่ค่อยจะมีองค์กรหรือหน่วยงานให้การสนับสนุนและส่งเสริมมากนัก เลยตัดสินใจจะเข้าร่วมโครงการฯ มันเหมือนเป็นการสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของห้องสมุดของเรา แต่ก่อนห้องสมุดของเราจะเป็นการมองจากตัวเรามองในมุมที่แคบๆ มากกว่า แต่หลังจากที่ได้รับการอบรมจากโครงการ ทำให้รู้ว่าเราต้องมองให้กว้างขึ้น ห้องสมุดเป็นของทุกคน เราต้องเรียนรู้ที่จะมองชุมชน มองถึงคนในสังคมของเราว่าเราจะทำให้พวกเขาเป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้อย่างไร จะทำให้เขาเข้ามาหาความรู้ หรือร่วมกิจกรรมกับห้องสมุดของเราได้อย่างไร และเราต้องเรียนรู้ที่จะมองที่ปลายทาง เพื่อสังคมเราจะได้เป็นสังคมแห่งการใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาให้ห้องสมุดของเราเป็นห้องสมุดมีชีวิตให้ได้ สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับคงจะนำไปพัฒนากิจกรรมโครงการต่างๆ ของห้องสมุด โดยจะเน้นการพัฒนาคนมากกว่า เพราะถ้าพวกเขาได้รับความรู้จากกิจกรรมที่ดีๆ จากหนังสือที่ดีๆ ความรู้พวกนั้นจะติดตัวพวกเขาไปได้ตลอด เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า สำหรับอนาคตก็อยากจะพัฒนาให้ห้องสมุดของเรา เป็นศูนย์ประสานงานเรื่องการเรียนรู้ เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของกันและกัน เป็นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ห้องสมุด เป็นเหมือนกับแหล่งรวมความคิดของผู้คนที่มีชีวิต และคนที่ตายไปแล้ว เป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่สำหรับห้องสมุดมีชีวิต ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับคน ต้องดูดี มีบุคลิกที่ดี มีชีวิตชีวา แต่ภายในก็ต้องฉลาด มีไวพริบ มีทัศนะคติที่ดี เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาชุมชนของเราต่อไป”
วิลัยรัตน์ ทองศักดิ์ บรรณารักษ์ตัวแทนห้องสมุดประชาชนอำเภอคำตากล้า จ.สกลนคร หนึ่งในห้องสมุดมีชีวิตที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “หลังจากได้เข้าร่วมกับโครงการนี้แล้ว ทำให้เราเข้าใจ ห้องสมุดมีชีวิตมากขึ้น กำหนดการดำเนินงานได้ชัดเจนขึ้น สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์กับคนในชุมชนได้มากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านั้นห้องสมุดของเราก็เหมือนห้องสมุดทั่วไป น่าเบื่อไม่มีชีวิตชีวา ใครอยากมาใช้บริการก็มา เป็นการตั้งรับเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งรับเท่านั้น แต่เรายังสามารถรุกได้เช่นกัน อย่างกิจกรรมที่เราเริ่มกันแล้วก็เป็นการส่งหนังสือถึงชาวบ้าน โดยเราจะขอให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่วยนำหนังสือที่เราจัดให้ไปแบ่งให้ชาวบ้านอ่านกัน ตอนแรกเราจะจัดกันเอง โดยดูจากความน่าจะเป็น แต่หลังจากเริ่มไปได้สักพักก็จะมีการจดการบันทึกถึงประเภทของหนังสือที่ชาวบ้านสนใจจริงๆ และต้องการจะอ่านมากยิ่งขึ้น เราก็จะจัดไปให้พวกเขาทุกๆ เดือน โดยแลกกับหนังสือของเดือนก่อนๆ กลับมา ถือเป็นการยืมหนังสือในแนวรุก สำหรับเด็กๆ เราก็จัดกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า สกายแลปบันเทิงศิลป์ โดยจะมีรถที่เราดัดแปลงเป็นโรงละครหุ่นเข้าไปตามชุมชนต่างๆ เล่นนิทานให้เด็กๆ ดู ไปสอนการอ่านหนังสือให้พวกเขา ให้เขารู้จักประโยชน์ที่แท้จริงของหนังสือ และชักชวนให้เขามาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ห้องสมุดของเราจัดขึ้น สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ เราจะนำไปพัฒนากิจกรรมต่างๆ ของเรา และตั้งใจว่า จะพัฒนาเป็นพิเศษในด้าน ICT เพราะในชุมชนของเรายังไม่มีการใช้อินเตอร์เน็ตกันเลย เราจะใช้ สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นให้วัยรุ่นสนใจที่จะมาใช้บริการในห้องสมุดของเรา และค่อยๆ ดึงให้พวกเขามาร่วมกับกิจกรรมกับเรา โดยเราก็จะต้องหากิจกรรมที่โดนใจพวกเขา เติมเต็มในสิ่งที่เขาต้องการ เราจะพยายามทำให้ห้องสมุดของเราเป็นห้องสมุดที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความอบอุ่นในครอบครัว และสร้างชุมชนให้แข็งแรงอย่างยั่งยืนต่อไป”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit