กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ส.อ.ท.
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ASEAN - EU ENERGY COOPERATION NETWORKING FOR PRIVATE SECTOR เมื่อวันที่ 9 - 10 พฤศจิกายน 2549 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 10 ในปี ค.ศ. 2011 หรืออีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสูงกว่าที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ร้อยละ 8 ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ ยอมรับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนมากที่สุดในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นแผนงาน เป้าหมาย และการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาของประเทศไทยเองคือ เป้าหมายที่กำหนดไว้มีความเป็นไปได้น้อยมาก สาเหตุเนื่องจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐที่ผ่านมา และความร่วมมือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจัยลบต่อการเพิ่มผลผลิตพลังงานทดแทน ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. จึงมีความคิดเห็นว่า ประเทศไทยควรมีองค์กรพัฒนาพลังงานทดแทนระดับทบวง กรม ที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายกระทรวง เพื่อกำหนดแผนงาน เป้าหมาย และตัวชี้วัดแยกออกจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีงบประมาณวิจัยพัฒนาของตนเอง ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ด้านความคืบหน้าของกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) มีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนี้มากที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่า 6,000 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ยังประสบปัญหา ต้นทุนต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 - 16 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ประกอบการจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ ด้านการกำหนดปริมาณการซื้อใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 5 รายส่งออกกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการผลิตในประเทศไทย
ด้านพลังงานลม (Low Speed Wind Turbine) พบว่า ประเทศไทยสามารถผลิตกังหันลมเชิงพาณิชย์ขนาด 5,000 วัตต์ และจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ถึงขนาด 50,000 วัตต์ ซึ่งเป็นกังหันแบบใช้กระแสลมต่ำ มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ มีกระแสลมพัดตลอดปี ได้ในอีกประมาณ 1-2 ปีข้างหน้า
สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนที่มีความพร้อมและปัญหาน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ Bio Gas เนื่องจากคืนทุนได้เร็ว อีกทั้งเทคโนโลยีของคนไทยก็ได้รับการยอมรับไม่ต่างจากของต่างประเทศ อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ยังประสบปัญหาเรื่องการขาดนักลงทุน ซึ่งมีความจำเป็นต้อง จัดหาเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือนักลงทุนในระบบ BOT (Built Operation Transfer) คือสร้างโรงงานให้ก่อนและเก็บผลประโยชน์จากการขายพลังงาน เมื่อครบกำหนดก็ยกโรงงาน BioGas ให้กับเจ้าของโรงงาน
ด้านธุรกิจการแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ซึ่งเป็นการกำจัดขยะชุมชนด้วยการแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีอยู่ 2 เทคโนโลยีที่นำเสนอและมีความเป็นไปได้คือ
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กล่าวว่า ทางคณะกรรมการกลุ่มฯ ได้มีการนำข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 5 ข้อ ได้แก่ 1.) ขอให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพลังงานทดแทนขึ้นโดยให้ภาคธุรกิจมีตัวแทน 1 ใน 3 และอีก 2 ใน 3 เป็นตัวแทนจากภาครัฐและนักวิชาการ 2.) ให้มีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนในการจัดซื้อพลังงานทดแทน 3.) ช่วยผลักดันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เร่งอนุมัติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น 4.) เนื่องจากพลังงานทดแทนกว่าร้อยละ 90 เกี่ยวข้องกับพืชผลทางด้านเกษตร ภาครัฐจึงควรมีการประสานงานข้ามกระทรวงกัน และ 5.) เร่งรัดให้มีการประกาศราคารับซื้อพิเศษ (Feed in tariff) สำหรับพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์ประเภทกระแสไฟฟ้า ได้แก่ พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) พลังงานลม (Wind Turbine) พลังงานชีวมวล (Bio Mass) การแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) พลังงาน BioGas รวมทั้งราคา BioDiesel และ Ethanol ที่เป็นธรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0 2345 1000 ต่อ 1013 1017
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit