กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กรีนพีช
การเสวนา เรื่อง กระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าไทย : สู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2549
เวลา 11.00-14.00 นาฬิกา
ร้านกาแฟดอยตุง สวนลุมไนท์บาร์ซาร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ในรัฐบาลปัจจุบันหลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร ได้ก้าวขึ้นมาพร้อมกับสถานการณ์ที่ท้าทายยิ่ง : การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคพลังงานที่ถูกครอบงำโดยหน่วยงานที่ผูกขาด กระบวนการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและแนวโน้มการลงทุนที่ล้นเกินซึ่งไร้ประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน มีการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ในภาคการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีส่วนรับผิดชอบมากที่สุดต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร้อยละ 95 ของเชื้อเพลิงซึ่งใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อดูจาก(ร่าง)แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP2006) โรงไฟฟ้าใหม่ส่วนใหญ่ที่มีแผนการก่อสร้างในทศวรรษหน้ายังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ เรายังขาดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของประสิทธิภาพด้านพลังงานตามบ้านเรือนและภาคธุรกิจ
ปัญหาดังกล่าวได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการวางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียพลังงานจากเชื้อเพลิงอย่างสูญเปล่าอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 60 ก่อนที่ไฟฟ้าจะถูกจ่ายออกจากสถานี ในระหว่างที่ไฟฟ้าถูกส่งไปตามระบบสายส่งก็ยังมีการสูญเสียพลังงานเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งไปถึงบ้านเรือนก็เป็นภาระของประชาชนที่จะตัดสินใจว่าจะใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองหรือใช้อย่างเหมาะสม
ในยุคที่ความมั่นคงด้านพลังงานกลายเป็นวาระสำคัญทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากภาคการผลิตพลังงานของเรา การปล่อยให้เกิดการสูญเสียพลังงานอย่างสูญเปล่าไปอย่างน้อยร้อยละ 60 เป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เลย การมุ่งไปสู่การใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนที่มหาศาลของไทย และระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์จะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นำผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่วัดได้มาสู่ประชาชนชาวไทย ทำให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริง การใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในประเทศที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างดีขึ้น สุขภาพของคนไทยก็จะดีขึ้นเนื่องจากมลพิษลดน้อยลง ชุมชนมีกรรมสิทธิ์และมีความรับผิดชอบในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และสุดท้ายยังทำให้เกิดเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น
ประเทศไทยได้ยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกระทรวงพลังงานของรัฐบาลใหม่นี้เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน การยกระดับข้อกำหนดเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การพัฒนากฏเกณฑ์ที่ส่งสริมและรองรับระบบการผลิตร่วมไฟฟ้า-ความร้อนที่มีประสิทธิภาพ แผนการที่จะผ่านร่างกฎหมายอุตสาหกรรมไฟฟ้าและก๊าซเพื่อนำไปสู่กระบวนการเชิงสถาบันในการวางแผนและกำกับกิจการที่ดีขึ้น และการอภิปรายเรื่องการปฏิรูปอย่างแท้จริงของกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในการพิจารณาทางเลือกพลังงานที่สะอาด
ในอีกด้านหนึ่ง ความล่าช้าของระบบราชการ แรงจูงใจที่ผิดแนวทาง และการตระเตรียมการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ปิดลับในการผลักดัน “การปฏิบัติที่เป็นไปตามปกติ” ซึ่งไร้ประสิทธิภาพและก่อมลพิษ ยังคงเป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาด้วย
ในห้วงเวลาสำคัญดังกล่าวมานี้ กรีนพีซนำเสนอรายงานเรื่อง กระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าไทย : สู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจัดทำและวิเคราะห์โดยกลุ่มพลังไท เป็นรายงานที่ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ โอกาสของทางเลือกพลังงานที่ประหยัดและสะอาดกว่า และอภิปรายถึงกระบวนการวางแผนและธรรมาภิบาล และการปฏิบัติที่ส่งเสริมพลังงานสกปรกและละเลยพลังงานสะอาด
รายงานนี้ยังเสนอวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทางเลือกซึ่งชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้ แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นให้ภาพพลังงานอย่างเป็นองค์รวมโดยละเอียด แต่ก็สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความเป็นไปได้ที่จะตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เป็นการคำนวณจากตัวเลขของรัฐบาลไทยหรือรายงานของธนาคารโลก โดยเป็นกระบวนการผลิตพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่เป็นไปได้และสร้างความเท่าเทียม และมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากพลังงานหมุนเวียนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และศักยภาพของประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมทั้งประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ระบบการผลิตร่วมไฟฟ้า-ความร้อน การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้เกิดแหล่งพลังงานที่เข้าถึงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษอื่นๆ น้อยลง
กำหนดการ
11.00-11.30
ลงทะเบียน
11.30-11.50
“เราคอยอะไรอยู่” – หนังสั้นเกี่ยวกับการกระจายศูนย์พลังงาน (จัดทำโดย Memory Box Films)
แนะนำระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตได้เองในท้องถิ่นโดยกลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด
11.50 – 12.20
การนำเสนอรายงาน “กระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าไทย : สู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน?
คริส กรีเซน - กลุ่มพลังไท
12.20 - 14.00
เวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนการอภิปรายเรื่อง “ ข้อเสนอภาคประชาชนต่อแนวนโยบายปฏิรูปกิจการไฟฟ้าไทย”
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ – มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เดชรัตน์ สุขกำเนิด – แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข
สายรุ้ง ทองปลอน – สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ประสาท มีแต้ม
หมายเหตุ : มีอาหารว่างและเครืองดื่มบริการ – กิจกรรมตามกำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit