ภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันส่งเสริมเยาวชนพิการทางสายตา จัดค่าย “วิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด” ครั้งที่สอง

23 Nov 2006

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน

เยาวชนผู้พิการทางสายตาจะได้รับการเรียนรู้ และทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อกระตุ้นความสนใจและเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อสายวิทย์เช่นเดียวกับเยาวชนปกติ

โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันสานต่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดครั้งที่สอง เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ และเข้าใจพื้นฐาน และกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมการเรียนรู้

โครงการค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดครั้งที่สองนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งนักเรียนตาบอดที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 23 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีสายตาปกติอีกจำนวน 15 คน จะร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ทดลอง และศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ตลอดระยะเวลาสามวันในค่ายวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้ความสำคัญในการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้พิการจะได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ได้ สำหรับผู้พิการนั้น ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น เช่น การใช้เครื่องมือสำหรับผู้พิการ ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมีความเชื่อมั่นว่าเยาวชนตาบอดทุกคนมีความสามารถและมีศักยภาพที่จะศึกษา

เล่าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และประกอบอาชีพในด้านนี้ได้ หากมีความมุ่งมั่นและใจรักในสาขานี้” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มผลักดันโครงการนี้กล่าวว่า “การเรียนวิทยาศาสตร์ของผู้พิการทางสายตาในต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่เปิดกว้าง และมีนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความพิการทางสายตาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่สำหรับในเมืองไทยการเรียนวิทยาศาสตร์นั้นยังมีข้อจำกัดสำหรับนักเรียนตาบอดอยู่มาก ดังนั้น ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดน่าจะเป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้นักเรียนตาบอดสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น”

กิจกรรมที่นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการจะเข้าร่วมได้แก่ กิจกรรมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมเรียนรู้ “ด้านไอที” กิจกรรมเรียนรู้ “โลกของความอร่อย” กิจกรรมเรียนรู้ “โลกของกลิ่น” กิจกรรมเรียน “โลกของวิทยาศาสตร์” และ “โลกของคณิตศาสตร์”

อาจารย์มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดในปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเปิดโลกวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นอยากมาก นักเรียนตื่นเต้น และให้ความสนใจในทุกกิจกรรมที่เขาได้เข้าร่วม ซึ่งเราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้พวกเขาสนใจไขว่คว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากยิ่งขึ้น และสนใจที่จะศึกษาต่อในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในอนาคต”

มร. ดิเรก บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่มีผลต่อสังคมในด้านบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่การดำเนินงานของไมโครซอฟท์จะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนได้โดยเฉพาะในเชิงเทคโนโลยี อย่างเช่นโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด เพราะไมโครซอฟท์เองมีเทคโนโลยีที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และในต้นปีหน้านี้หลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของไมโครซอฟท์ วินโดวส์ วิสต้า ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการใหม่ล่าสุดแล้ว ผู้พิการทางสายตาจะได้รับประสบการณ์ในการใช้งานฟีเจอร์ “ความง่ายในการเข้าถึง” หรือ ease of access center ได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ของผู้พิการ”

ทั้งนี้ นักเรียนตาบอดที่เข้าร่วมโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์ตาบอด” จะมีโอกาสในการเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้รับทุนส่งเสริมการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะกรรมการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด ซึ่งมีทั้งสิ้น 10 ทุน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

คุณศุภาดา ใจดี

บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย

โทร. 02-627-3501 ต่อ 209

แฟกซ์ 02- 627-3510

Email: [email protected]