กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. สนับสนุนโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ปี 49 โดยมุ่งหวังให้เป็นสิ่งจูงใจ สรรค์สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ชาติ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ จัดแถลงข่าวเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2549 โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ จาก ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. โดยโครงการดังกล่าว มุ่งเชิดชูเกียรติ และสร้างแรงจูงใจ ให้เหล่านักเทคโนโลยีพัฒนาผลงานและความสามารถอันนำมาซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยสืบไป
ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น พร้อมด้วยผู้ได้รับรางวัล แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมแสดงความยินดี ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนงได้ร่วมในงาน แถลงข่าวเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและ นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2549 โดย ดร.กอปร กฤตยากีรณ กล่าวถึงที่มาของโครงการ ว่า
“โครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่มีผลงานดีเด่น ไม่ว่าจะเป็นนักเทคโนโลยีของรัฐหรือในภาคเอกชน อันจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักวิชาการและนักพัฒนาเทคโนโลยีไทยจำนวนมากที่มีความสามารถสูง ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ในโลกได้โดยเร็ว และด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สวทช. ทำให้มูลนิธิฯ สามารถให้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เป็นจำนวนเงินรวม 1 ล้าน 2 แสนบาทต่อปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ทั้งประเภทกลุ่มและบุคคลไปแล้ว 9 รางวัล และนักเทคโนโลยี รุ่นใหม่ 7 ท่าน โดยในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นได้ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าของข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย อันสมควรได้รับการยกย่องจากสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง”
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงการให้การสนับสนุนโครงการฯ ของ สวทช. ในครั้งนี้ ว่า “การที่มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่เป็นต้นมา ถือเป็นการแสดงถึงความตระหนักต่อความสำคัญของเทคโนโลยี และตัวบุคคลผู้คิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมา สวทช. เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนเงินรางวัลมาโดยตลอด”
รศ.ดร.ศักรินทร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงความมุ่งหวังของโครงการไว้ว่า “ผลงานและความสามารถของเหล่านักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่นี้ จะนำพามาซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ อีกทั้ง จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชน นิสิต นักศึกษาในรุ่นต่อ ๆ ไปให้มีความสนใจในวิชาชีพเชิงเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการสร้างความตระหนักต่อคนไทยในบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยสืบไป”
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาผลงานที่สมควรแก่รางวัล นั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นได้กล่าวว่า “คณะกรรมการจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ เป็นผลงานใหม่และโดดเด่น มีผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรไทย และผลกระทบทางบวกต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การคิดค้นและการพัฒนาที่สำคัญต่อไป ตลอดจนเป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีอุตสาหกรรม”
รางวัลและผลงานของรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2549 ในปี 2549 นี้ คณะกรรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2 รางวัล (รางวัลละ 500,000 บาท)
1. ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร เป็นกลุ่มวิจัยที่ประกอบด้วยนักวิจัยจำนวน 9 ท่าน ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการหมักอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบจนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต้นเชื้อบริสุทธิ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารหมักที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาไทยให้ได้คุณภาพที่ดีและลดระยะเวลาของการหมัก ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาในรูปของแหนม ซีอิ้วเปรี้ยว น้ำปลา ฯลฯ
2. รศ.ดร.ไสยวิชญ์ วรวินิต ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งได้ทำการคิดค้นเพื่อทำการผลิต แป้งข้าวบริสุทธิ์ (rice starch) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสกัดเอาโปรตีนออกจากแป้งข้าว ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการจนระดับผลิตจริง และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้พบการใช้ประโยชน์ของ rice starch ดัดแปรที่มีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมในการใช้เป็นสารเพิ่มปริมาณ (diluent หรือ tablet filler)ในการทำเม็ดยา ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยได้อย่างมาก จากราคาข้าวในปัจจุบันมูลค่าประมาณ 10,000 บาทต่อตัน แต่ rice starch ที่ผลิตเป็นสารเพิ่มปริมาณในการทำเม็ดยานี้มีราคาประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 100,000 บาท อันจะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2 รางวัล (รางวัลละ 100,000 บาท)
1. รศ.ดร.วิมลวรรณ พิมพ์พันธุ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งพัฒนาผลงานการสังเคราะห์กราฟต์โคพอลิเมอร์ของแป้งข้าวเหนียว และเมทิลเมทาคริเลตสำหรับนำไปใช้ในการผลิตพลาสติกที่มีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพ โดยใช้กระบวนการสังเคราะห์ที่ง่ายและไม่ซับซ้อน แต่มีประสิทธิภาพในเรื่องการดูดซึมน้ำและความแข็งแรงที่สูง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
2. นายทนงศักดิ์ มูลตรี ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ซึ่งมีผลงานการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพ เช่น รถตัดอ้อยแบบรถไถนาเดินตามที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสามารถตัดอ้อยได้ 0.5 ไร่ต่อชั่วโมง หรือเทียบกับแรงงานคนเท่ากับ 56 คนต่อวัน นอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานการพัฒนาเชิงเทคโนโลยีที่นำไปใช้งานได้จริงอีกนับ 10 ผลงาน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit