พพ.ลั่นเดินหน้าโครงการพลิกขยะอินทรีย์ เป็นพลังงานทดแทน มีความคุ้มค่ารอบด้านช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และคุ้มค่าต่อการลงทุน

19 Oct 2006

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน

นายอำนวย ทองสถิตย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผย พพ. จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาพัฒนาและสาธิตถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์สำเร็จรูปขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นำขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย อาทิ เศษอาหาร เศษผักผลไม้ นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กลายก๊าซชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ โดยก๊าซชีวภาพที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ทั้งในระดับชุมชน หรือ บ้านเรือน โดยทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือใช้กับตะเกียงก๊าซให้แสงสว่าง ส่วนกากตะกอนที่เหลือยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ พพ. ได้ดำเนินการพัฒนาถังหมักต้นแบบจำนวน 100 ชุด นำไปติดตั้งเพื่อสาธิตการใช้งาน ในสถานที่ต่างๆ 100 แห่ง ได้แก่ สถานศึกษาในสังกัดกทม. สังกัด สพฐ. และเอกชน จำนวน 94 แห่ง ส่วนที่เหลือติดตั้งในหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมทหาร ชุมชน และหน่วยงานเอกชน

ในแง่ของความคุ้มค่าของโครงการฯ พบว่า ถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ จะมีค่าลงทุนประมาณ 40,000 บาทต่อชุด ค่าเดินระบบและบำรุงรักษาประมาณ 10,000 บาทต่อปี และค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ทดแทนตลอดอายุการใช้งานประมาณ 3,200 บาท แต่สามารถช่วยให้ท้องถิ่นหรือภายในชุมชน ประหยัดเงินจากการซื้อก๊าซหุงต้ม ปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ รวมทั้งสิ้น 27,600 บาทต่อปี ซึ่งทำให้ถังหมักก๊าซชีวภาพดังกล่าว สามารถคืนทุนได้ในเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน และมีผลตอบแทนโครงการประมาณ 32.14% ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่ามากในการลงทุน

“ผลพลอยได้ และผลประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนได้รับ จากการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ฯ นอกจากเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกและกำจัดขยะมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดการขยะของท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพยังช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศ” นายอำนวยกล่าว

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net