กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ปชส.จร.
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ได้กล่าวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า
การประชุมผู้นำ APEC ที่เวียดนาม เดือนพฤศจิกายนนี้ เชื่อว่าจะเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนการเจรจารอบโดฮาให้กลับสู่ปกติ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง แม้ว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และผู้นำประเทศอื่นๆ จะพยายามขับเคลื่อนให้มีความก้าวหน้าสำหรับการเจรจารอบโดฮา ก็อาจจะทำได้ยากเนื่องจากกรมส่งเสริมการส่งออกของสหรัฐฯ (U.S. Trade Promotion Authority : TPA) ซึ่งปกติต้องได้รับการรับรองและเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ในเรื่องความตกลงทางการค้าต่างๆ ที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้ดำเนินการเจรจาไป ก็จะหมดอายุในเดือนมิถุนายนปีหน้า
ดร. ศุภชัย ได้ย้ำว่า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกที่จะต้องพยายามปรับท่าทีให้มีความยืดหยุ่นกันมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเริ่มต้นหันมาเจรจากันได้ต่อไป และเชื่อว่าการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มย่อยที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในเดือนมกราคม 2550 ที่จะถึงนี้ ประเทศสมาชิกคงจะมีการแสดงท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และกล่าวชมสหรัฐฯ ที่มีความเสียสละและความจริงใจที่ได้แสดงข้อเสนอท่าทีที่ยืดหยุ่นสำหรับการเจรจาสินค้าเกษตรในปลายปีที่ผ่านมา จึงมีความสงสัยว่าคราวนี้จะเป็นประเทศใดที่จะเป็นผู้นำในการขยับท่าทีของตนก่อน เพื่อให้ประเทศอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง เพราะสังเกต เห็นว่า แม้ประเทศจีนเองก็ปฏิเสธที่จะเป็นตัวหลักในการแสดงความยืดหยุ่นของตนก่อนประเทศอื่น โดยให้สาเหตุว่าเป็นประเทศของตนเพิ่งเข้าสมาชิกใหม่ของ WTO
การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 18 และการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 14 จะมีขึ้นที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2549 โดยระหว่างวันที่ 15 -16 พฤศจิกายน จะเป็นการประชุมรัฐมนตรีเอเปค เพื่อพิจารณารับรองและเห็นชอบแผนงานต่างๆ ที่เอเปคจะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นผลจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส และในวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน จะเป็นการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจารอบโดฮา การขยายตัวของ การรวมกลุ่มในภูมิภาค การสร้างความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าการลงทุน มาตราที่จะบรรลุเป้าหมายโบกอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยจะใช้โอกาสในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกเศรษฐกิจเอเปค เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงว่าไม่ใช่การหยุดนิ่ง ชะงักงัน และปิดตลาดแต่จะเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่ก้าวกระโดดเกินกำลังของเศรษฐกิจที่มีอยู่ และต้องมีการกระจายรายได้ กระจายความสุขให้เท่าเทียมกันทุกส่วนในสังคม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit