กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่า ภายหลังสิ้นสุดการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของ SPL ปรากฏว่ามีผู้มาแสดงเจตนาขายหุ้นรวมทั้งหมด 119,569,291 หุ้น ทำให้ภายหลังการรับซื้อหุ้นในครั้งนี้ ธนาคารถือหุ้นใน SPL รวม 198,886,402 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.51 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมดของ SPL
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า “ธนาคารยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การทำคำเสนอซื้อหุ้น SPL ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ต่อจากนี้ไปธนาคารจะใช้ SPL เป็นฐานในการรุกธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อย่างเต็มตัว และมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ โดยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาและกลุ่มลูกค้าบุคคลที่ธนาคารได้สร้างฐานไว้อย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา"
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริมว่า “ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นธุรกิจสำคัญสำหรับธนาคาร โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารมีพันธกิจในการเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ครั้งนี้ ธนาคารหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าด้วยการให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีคุณภาพผ่าน SPL” ทั้งนี้ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นใน SPL เพิ่มในครั้งนี้ สินทรัพย์รวมของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (Consolidated balance sheet) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 43,000 ล้านบาท โดยกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์เป็นกลุ่มธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ
การเข้าซื้อหุ้น SPL จำนวน 119,569,291 หุ้น ในครั้งนี้ ธนาคารใช้เงินลงทุนเท่ากับ 4,543.6 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากราคาเสนอซื้อที่ 38 บาทต่อหุ้น โดยธนาคารจะชำระเงินค่าหุ้นเป็นเช็คให้แก่ผู้แสดงเจตนาขายในวันที่ 4 พ.ค. 2549 (วันทำการที่ 3 นับจากวันสุดท้ายของระยะเวลารับซื้อ) โดยวิธีการรับเช็คจะเป็นไปตามวิธีที่ผู้แสดงเจตนาขายได้แสดงเจตนาไว้ในแบบตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
SPL ซึ่งมีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อสัญญาเช่าระยะยาว (สินเชื่อลีสซิ่ง) และสินเชื่อโอนสิทธิเรียกร้อง (สินเชื่อแฟคตอริ่ง) ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นับเป็นธุรกิจหลักของ SPL โดยมูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 95 ของมูลค่าลูกหนี้ทั้งหมด