กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มสธ.สร้างระบบอีเลิร์นนิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นต้นแบบเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนแบบออนดีมานด์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ร่วมกับไอบีเอ็มและอัลฟ่าออฟฟิซปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอนเป็น Education Services Innovation ที่จัดระบบการเรียนการสอนให้อยู่ในระบบดิจิตอล เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนแบบตลาดวิชาที่เปิดกว้างให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสามารถศึกษาและทบทวนบทเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
ภายใต้การให้บริการการศึกษาแนวใหม่นี้ มสธ. สามารถเปิดให้นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ สามารถเข้าถึงบทเรียนและการสอนแบบถ่ายทอดสดจากห้องเรียน รวมทั้งสามารถสืบค้นเทปบันทึกการสอนย้อนหลังได้ในทุกชุดวิชาจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ ที่เรียกว่า Web On Demand & Web Live Broadcasting และนักศึกษายังสามารถวางแผนการเรียนและสืบค้นตารางการเผยแพร่สื่อการศึกษาได้ผ่านระบบ Web Scheduled Broadcasting ระบบการศึกษาใหม่นี้จะช่วยในการจัดการฐานข้อมูลและคลังความรู้ของชุดวิชาที่เปิดสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนถึง 600 ชุดวิชา อันจะทำให้ มสธ. มีแหล่งข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้และขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร. ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า “มสธ. ได้ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิทยาการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาระบบให้การศึกษาแนวใหม่ Education Services Innovation โดยการนำรายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียงที่ได้ออกอากาศไปแล้ว และสื่อการศึกษาอื่น ๆ มาจัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการการเรียนรู้ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อัลฟ่า ออฟฟิซ ออโตเมชั่น จำกัด และบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในการพัฒนาระบบดังกล่าว”
ขณะนี้ มสธ. ได้นำรายการเพื่อการศึกษาประกอบชุดวิชา จำนวน 300 ชุดวิชา อันประกอบไปด้วยรายการที่มีสาระน่ารู้ต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง 5,000 รายการ มาให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ( www.stou.ac.th ) และภายในปี 2550 จะมีจำนวนรายการสื่อการศึกษาให้บริการมากถึง 10,000 รายการ โดยผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นรายการโดยระบุคำค้นที่ต้องการได้อย่างหลากหลาย และระบบจะส่งข้อมูลภาพ และเสียงให้มีคุณภาพตามขนาดความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วยังมีการถ่ายทอดสดรายการเพื่อการศึกษาที่น่าสนใจอีกด้วย
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มขอแสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของ มสธ. ผู้ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ภายใต้แนวคิดที่ไอบีเอ็มเรียกว่า Education Services Innovation ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้านการศึกษาที่แตกต่างและสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับทั้งสถาบันการศึกษา คณาจารย์ และตัวผู้เรียนในวงกว้างมากที่สุด ปัจจุบัน ไอบีเอ็มร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วโลกในการหาแนวทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ที่มิใช่เพียงเพื่อการติดต่อสื่อสาร แต่เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรูปแบบการศึกษาแบบ Collaboration ระหว่างคณาจารย์และผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ดังเช่นที่ มสธ. ไอบีเอ็มได้นำเสนอเทคโนโลยีระบบเปิดทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และร่วมมือกับบริษัทคู่ค้าสำคัญ ในการนำเสนอบริการและแอพพลิเคชั่นเฉพาะด้านอี-เลิร์นนิ่ง มาสร้างเป็นระบบอี-เลิร์นนิ่งออนดีมานด์ในรูปแบบเว็บบรอดคาสต์และระบบตารางสอนออนไลน์ที่กำลังสร้างให้ มสธ. เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ใหม่ที่ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีคุณค่ามหาศาลพร้อมๆ กันได้ในเวลาเดียวกัน จากทุกที่ทุกเวลา”
นางศิริวรรณ กรีโภค กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลฟ่า ออฟฟิซ ออโตเมชั่น จำกัด กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งต้องใช้ระบบโปรแกรม 2 ระบบของบริษัททำงานร่วมกับมิดเดิ้ลแวร์ของไอบีเอ็ม และบนยูนิกซ์เซิร์ฟเวอร์และสตอเรจขนาดใหญ่ขนาดรวมกันแล้วมากกว่า 60 เทราไบต์ ทั้งนี้
บริษัท อัลฟ่า ออฟฟิซ ออโตเมชั่น จำกัด มีความชำนาญ ประสบการณ์ และความพร้อมของทีมงานทางด้านการจัดทำระบบโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ (Electronic Library Information System) ที่รู้จักกันในชื่อ Navasarn? ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นโปรแกรมในการจัดเก็บและค้นหาสื่อการเรียนการสอนตามมาตรฐานสากล ผนวกกับการนำเอาระบบโปรแกรมการจัดการทรัพย์สินดิจิตอล (Digital Asset Management System) ที่รู้จักกันในชื่อ AlphaDAMS? มาช่วยจัดการไฟล์สื่อผสมขนาดใหญ่ โดยที่ทางบริษัทได้พัฒนาระบบโปรแกรมทั้งสองให้ทำงานอยู่บนมิดเดิ้ลแวร์และเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทไอบีเอ็มทั้งหมด ระบบที่บริษัทฯ และไอบีเอ็มร่วมกันสร้างขึ้นนี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก ด้วยทางบริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากไอบีเอ็มเป็นอย่างดีในการนำเอาเทคโนโลยีของไอบีเอ็มมาใช้งานร่วมกับระบบโปรแกรมของทางบริษัท อันเป็นผลทำให้การดำเนินงานโครงการดังกล่าวของ มสธ. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณนฤมล ปะทะมะพันธุ์
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โทร 02-504-7051
อีเมล์ : [email protected]
คุณอรอุมา วัฒนะสุข
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร 02-273-4117
อีเมล์ : [email protected]
คุณชุตินันท์ ธาราฉัตร
บริษัท อัลฟ่า ออฟฟิซ ออโตเมชั่น จำกัด
โทร 02-588-5487-9
อีเมล์ : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit