กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สถาบันไทยเยอรมัน
สถาบันไทย-เยอรมัน ระบุผลสำเร็จโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (MDP) กว่า 85 เปอร์เซ็นต์
ชี้เดินเครื่องเต็มแรงปี 49 เน้นการพัฒนาแบบคลัสเตอร์ สร้างเครือข่ายในสายอาชีพ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย หลังปูพรมพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กล่าวถึงภาพรวมความคืบหน้าของโครงการที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นั้น กำหนดไว้ 3 แนวทางหลัก คือ การพัฒนาบุคลากร ได้ดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และฝึกอบรมยกระดับพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์รวมแล้วทั้งสิ้นเกือบ 1,500 คน ในทุกสาขา แนวทางที่สอง คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ 4 ด้าน คือ การวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในการนำไปปฏิบัติจริง และแนวทางที่ 3 คือ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ถือเป็นความคืบหน้าของโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ 85”
สำหรับทิศทางการพัฒนาในปี 49 นี้ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า จะเน้นการพัฒนาภายใต้การเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ หรือคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมๆ กับการพัฒนาบุคลากร ภายใต้โครงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์ และคู่มือการฝึกอบรม โดยความรับผิดชอบของสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เพื่อให้เกิดระบบและมาตรฐานการพัฒนาความรู้ที่เป็นเอกภาพและรูปแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ต้นแบบ หรือ M&D Best เพื่อเฟ้นหาโรงงานแม่พิมพ์ดีเด่น โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการคัดเลือกจะได้รับการวินิจฉัยปัญหาของการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้าน พร้อมรับบริการปรึกษาแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นโรงงานแม่พิมพ์ที่ดี มีความพร้อมทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ยังมีการดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ แบบอินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ควบคู่ไปด้วย โดยการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลและเว็บท่า เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหน่วยสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต่อไป ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยอย่างยั่งยืน
ทางด้าน ดร.ดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ว่า “อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเซรามิก ไปจนกระทั่งอุตสาหกรรมของเด็กเล่น ซึ่งนับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ประเทศที่มีความเจริญระดับแนวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ล้วนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จนกลายเป็นฐานรากที่แข็งแรง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ความสำเร็จของโครงการในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างคน เพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก และรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี”
อนึ่ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นี้ เป็นโครงการระยะยาวที่จะสิ้นสุดในปี 2552 โดยในปี 2549 จะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ที่วางไว้ โดยจะเน้นในเรื่องของการเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการ รวมทั้งให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม และการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต และลดการนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศ และในปีนี้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยังได้มอบหมายให้สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจัดทำโครงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์และคู่มือการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ภายใต้ฐานข้อมูลและแผนงานเดียวกัน และ โครงการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ต้นแบบ หรือ M&D Best เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ให้มีความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านทั้งด้านการผลิตและการบริหาร เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบสำหรับพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
รวมทั้งการมุ่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือเอ็กเซลเลนท์ เซ็นเตอร์ (Excellence Center) โดยให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษาต่างๆ 7 สถาบันที่เข้าร่วมโครงการฯ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล สุวรรณภูมิ สถาบันเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างแรงงานที่มีความชำนาญเฉพาะทางให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
สถาบันไทยเยอรมัน
โทร 038 456 800
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit