บีโอไอหนุนธุรกิจประมงไทยลงทุนในเคนยา สมาคมประมงนอกน่านน้ำไทยขานรับทันที

04 Jul 2006

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--บีโอไอ

บีโอไอเดินหน้าหาตลาดให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ เผยเคนยาน่าลงทุนอุตสาหกรรมประมง เพราะมีชายฝั่งทะเลยาว 900 กิโลเมตร และมีปลาทูน่าจำนวนมาก

อีกทั้งยังมีแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้านสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยขานรับพร้อมเข้าไปลงทุน

นายวิทยา ไพรสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการหารือกับ Mr. David Gachoki Njoka เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเคนยา (High Commissioner of The Republic of Kenya) ว่า ประเทศเคนยาถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ที่น่าลงทุน และเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันออก อีกทั้งเปิดรับนักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเทียบเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือประมง รวมไปถึงอุตสาหกรรมประมงแบบครบวงจร

“การประมงในประเทศเคนยายังไม่พัฒนามากนัก ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกได้ถึงปีละ 2,500 ล้านบาทต่อปี มีชายฝั่งทะเลยาวเกือบ 900 กิโลเมตรมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยเฉพาะปลาทูน่าจำนวนมาก อีกทั้งนอกจากการประมงน้ำเค็มแล้วยังมีแหล่งประมงน้ำจืดในทะเลสาบวิคตอเรียซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยมีขีดความสามารถสูงกว่า แต่ประสบปัญหาการจับปลาในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านและขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่เอกชนไทยจะขยายการลงทุนในประเทศเคนยา” นายวิทยากล่าว

ที่ปรึกษาด้านการลงทุนบีโอไอกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สมาคมประมงนอกน่านน้ำไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเคนยาแล้ว โดยได้ยืนหนังสือแสดงเจตจำนง และแผนธุรกิจที่จะเข้าๆไปทำการประมง รวมทั้งแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเคนยาด้วย

สำหรับสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน ในประเทศเคนยาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 41 แห่ง ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 10 ปีแรก และจัดเก็บภาษีในอัตรา 25% ใน 10 ปีถัดมา จากอัตราปกติ 30% รวมทั้งยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตด้วย

นอกจากโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมการประมงแล้ว ประเทศเคนยาได้เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในหลายประเภทอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรทั้งภาคการผลิตและแปรรูป ท่องเที่ยวปศุสัตว์ สิ่งทอ อสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

โทร 0 2537- 8111 , 0 2537- 8155