ตั้งวงสนทนากับ “ดุลยสิทธิ์” ผ่านประสบการณ์ที่สั่งสมในวงการหนังก่อนจะมาถึงหนังล่าสุดอย่าง “อาจารย์ใหญ่”

28 Jul 2006

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สหมงคลฟิล์ม

บรรยากาศการพูดคุยครั้งแรกของกับผู้กำกับที่คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์มากว่า 20 ปี อย่าง ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล ที่หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเขามานาน เพราะเขามีส่วนร่วมในหนังไทยหลายต่อหลายเรื่อง ผู้กำกับสารภาพด้วยท่าทีที่เยือกเย็นสมกับที่มีพื้นเพเป็นคนเหนือว่า “ผมเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ผมเป็นคนน่าน โตมากับพวกหนังกลางแปลง” พอเข้ามาเรียนต่อปวช.ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขาก็มีโอกาสได้ดูหนังหลายหลากมากขึ้น และเกิดแรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Day for Night ของ Francois Truffaut ทำให้อยากเป็นคนทำหนัง เขาเลยเริ่มไปสมัครเป็นเด็กในกองถ่าย ซึ่งช่วงนั้นเป็นยุคของบรรพตฟิล์ม ตั้งแต่เด็กในกองก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

จนมาถึงช่วงการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต คือเอ็นทรานซ์ ผู้กำกับคนนี้กลับเลือกที่จะเรียน จิตวิทยา มากกว่า

เขาใช้เวลานึกย้อนความหลังเพียงเล็กน้อยก่อนที่จะให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจครั้งนั้น “ตอนนั้นผมอยากเรียนภาพยนตร์นะ แต่ภาพยนตร์มันคะแนนสูงมาก แล้วสมัยปี 28-29 การเรียนภาพยนตร์มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่เหมือนสมัยนี้ แล้วผมก็เรียนช่างกลมา ผมไม่สามารถไปสอบแข่งกับใครเขาได้หรอก ผมก็เลยรู้สึกว่าเรียนจิตวิทยาดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด จิตวิทยามันก็สามารถเอามาใช้กับหนังได้ แล้วตอนนั้นมันก็คะแนนไม่สูงมาก ผมก็เลยเลือกจิตวิทยา แล้วก็ได้เรียนที่มศว. ประสานมิตร แต่ผมตอนที่ผมเรียน ผมก็ไม่กังวลว่าเรียนจบแล้วจะไม่ได้ทำหนังนะ เพราะตอนนั้นผมก็ทำงานอยู่ในกองถ่ายอยู่แล้ว รู้จักคนพอสมควร”

ผลงานตลอด 20 ปี ของ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล มีมากมาย ตั้งแต่ได้ร่วมเขียนบทเรื่อง อย่าบอกว่าเธอบาป , สยึ๋มกึ๋ย , เกิดอีกทีต้องมีเธอ และได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก โลกทั้งใบให้นายคนเดียว เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกร่วมกับ ธีรวัฒน์ รุจินธรรม กับเรื่อง เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ และคว้ารางวัล Cinemag Spirit Award สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครอง

นอกจากนี้ เขายังมีส่วนในการพัฒนาบทภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อย่าง กำแพง, ยุวชนทหาร

และเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง แม่เบี้ย และโกลคลับ เกมล้มโต๊ะ ก่อนจะกลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งกับ ขวัญเรียม ร่วมกับ สุทธากร สันติธวัช และ ก็เคยสัญญา ร่วมกับ ศักดิ์ชาย ดีนาน กับ ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์

รวมไปถึงเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์ของหนังกับลิเกในเรื่อง โหน่งเท่ง นักเลงภูเขาทอง ด้วย

ล่าสุด ดุลยสิทธิ์ กลับมาในฐานะการกำกับเต็มตัวเรื่องแรก พร้อมกับเปิดตัวบริษัททำภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อว่า “กานจาบฟิล์ม” ที่ประเดิมด้วยภาพยนตร์ที่ชื่อว่า “อาจารย์ใหญ่” ที่นอกจากจะกำกับแล้ว ยังควบตำแหน่งควบคุมงานสร้าง เขียนบทภาพยนตร์ และลำดับภาพอีกด้วย

ผู้กำกับส่งยิ้ม พร้อมนัยน์ตาขี้เล่นเล็กน้อย เมื่อถูกถามถึงความเป็นมาของชื่อ กานจาบฟิล์ม “มันมาจาก กาบจาน เลยมาเป็นกานจาบ” เขาหัวเราะเสียงดังก่อนจะกลับมาสุขุมอีกครั้งพร้อมเหตุผล

“เรื่องราวมันเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อตอนสมัยที่เราอยากเป็นคนทำหนัง เป็นนักเรียนแล้วอยากทำหนังแล้วก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นยังไง ก็เลยเริ่มจับกลุ่มคนที่อยากทำหนังแล้วไม่มีโอกาสได้เรียน เป็นพวกที่ชอบไปดูหนังตามสมาคมด้วยกัน มี เปิ้ล ศิวพร ที่ทำเรื่อง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หมู สุภาพ บก. Bioscope แล้วก็นักวิจารณ์อีกหลาย ๆ คน รวมไปถึงนักเรียนแล้วคนทำงาน ซึ่งไอ้กลุ่มคนที่ดูหนังตามสถาบันพวกเนี้ย ก็ตั้งสโมสรกันขึ้นมาว่า สโมสรกานจาบ คำว่า กานจาบ ก็คือการเอาชื่อย่อของสมาคมที่เราดูหนังฟรี หนังวัฒนธรรมต่าง ๆ มาเรียงกัน G ก็ Goethe Institut

A ก็ AUA N ก็ National Film Archive J ก็ Japan Foundation A ก็ Alliance Francaise แล้วก็ B จาก British Council ก็คือตั้งในกลุ่มพวกเราขึ้นมาว่า สโมสรกานจาบ หลังจากนั้นผมก็มีความคิดอยู่ตลอดว่า ถ้ามีบริษัทสร้างหนังของตัวเองก็อยากจะใช้ชื่อกานจาบ พอวันนี้มีโอกาสได้ทำบริษัทหนัง ก็เลยใช้ชื่อนี้”

การพูดคุยดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหัวข้อสนทนามาถึงเรื่องของ “ภาพยนตร์” สิ่งที่ผู้กำกับย้ำเสมอว่าคือสิ่งที่เขารัก

Q: คิดว่าอะไรในหนังที่มีเสน่ห์ดึงดูด

“ผมชอบเรื่องราวของคน Confict ตัวละคร คนที่เป็นแบบนี้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อุปสรรค์ที่เขาต้องเผชิญและเรียนรู้จากอุปสรรคตรงนั้น แล้วทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น หรือแย่ลง เรื่องราวพวกนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เข้ามากระทบความรู้สึก ผมรู้สึกว่าหนังคือสื่อที่เล่าเรื่องได้ แล้วทำให้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของมันไม่ว่าจะวิธีใด”

Q: แต่มันก็มีสื่ออีกหลายสื่อที่เล่าเรื่องราวได้ ทำไมต้องเป็นหนัง

“ผมว่าหนังมันเป็นสื่อของผู้กำกับจริง ๆ มันมีการถ่ายเป็นเฟรม คอนโทรลอารมณ์ คอนโทรลดนตรี คอนโทรลการตัดต่อ อย่างถ้าเป็นละครเวที ผมก็จะรู้สึกว่า พอเขาไปอยู่บนเวทีแล้ว เราก็ไม่สามารถคอนโทรลเขาได้ มันเป็นสื่อของเขา ไม่ใช่สื่อของเรา จังหวะบางอย่างก็ต้องให้เขาตัดสินใจ ถ้าเป็นละครโทรทัศน์มันก็เหมือนกัน ภาพเราคอนโทรลไม่ได้ มันเป็นเรื่องของการตัดภาพของเขา จังหวะมันไม่ใช่ของเรา สุดท้ายผมเลยรู้สึกว่า หนังเนี่ยมันเป็นสื่อของเราจริง ๆ เราคอนโทรลมันได้”

Q: ในฐานะที่เป็นคนของหนังจริง ๆ อยากให้พูดถึงมุมมองที่มีต่อหนังไทยในปัจจุบัน

“สำหรับผม ผมก็คือคนดูหนังคนหนึ่ง แล้วสิ่งที่ทำให้ผมอยากดูหนัง อันดับแรกก็คือความสนุก

ความสนุกที่พูดถึงก็คือการทำให้คนดูเข้าใจตัวละคร ตามตัวละครได้ สนุกไปกับมัน อยากรู้เรื่องราว อยากรู้ชะตากรรมของตัวละครว่าจะเป็นไงต่อไป

ผมว่าหนังไทยกำลังทำตรงนี้อยู่ กำลังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ เรื่องก็ทำได้แล้ว และสิ่งที่ผมรู้สึกตลอดว่าคนทำหนังเนี่ยมีความพยายาม หนังไทยเราก็มีทางเลือกมากขึ้นแล้ว เรามีหนังอย่าง ฟ้าทะลายโจร หรือหมานคร เรากำลังมีทางไปของเราอยู่”

Q: ระยะเวลา 20 กว่าปีที่อยู่ในวงการหนังมา มันมีส่วนในการสร้างงานของตัวเองมากน้อยแค่ไหน

“ในแง่ว่าทำหนังได้ดีขึ้นรึเปล่า ผมว่าไม่ค่อยเกี่ยว เพราะตรงนั้นมันอยู่ที่ว่าเราศึกษากับมันมากแค่ไหน ระยะเวลาไม่มีผล เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหนังมาเขาก็ศึกษามันได้ แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของ conection เพราะเราจะรู้จักคนเยอะ เรื่องของการเรียกร้องจากคนทำงาน ถ้าเราอยู่ในวงการมานาน มีประสบการณ์มาก เราก็สามารถเรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดจากทีมงานได้ เรามองทะลุงานออกไป คือยิ่งนานก็ยิ่งรู้ว่า อ๋อ ตรงนี้เรียกร้องแค่นี้ก็พอ ตรงนั้นไม่ต้องไปเรียกร้อง คือมันเป็นเรื่องของประสบการณ์มากกว่า”

น้ำเสียงที่แสดงท่าทีที่สุขุมเงียบลง พร้อมกับเรื่องเล่าจากอดีตและทัศนคติที่เกี่ยวกับหนังของเขา

ผู้กำกับยกน้ำขึ้นดื่มและเหลือบตาคิดซักครู่ เมื่อเราถามถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา “อาจารย์ใหญ่” เขาวางแก้วลงพร้อมท่าทีที่จริงจังอีกครั้ง

Q: กับการกำกับเต็มตัวครั้งแรก ทำไมถึงเลือกเรื่องราวของ “อาจารย์ใหญ่”

“เริ่มต้นจริง ๆ เลยมันมาจากว่า ผมอยากทำหนังซักเรื่องหนึ่งที่มันน่ากลัว ๆ แต่ก็อยากได้อะไรที่ใหม่ ๆ หน่อย อยากพูดถึงเรื่องที่คนยังไม่เคยพูดถึงในภาษาหนัง ผมก็เลยคิดไปว่ามีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกกลัวได้บ้าง ผมก็คิดไปถึงศพ ผมว่าศพเนี่ยมันกระตุ้นความกลัวได้ดีนะ ผมเคยไปเจอศพที่ตายตามท้องถนนที่เขาคุมผ้าไว้ ผมก็รู้สึกกลัว ผมก็เลยคิดไปถึงสถานที่ซักที่ที่มันจะมีศพมารวมกันเยอะ ๆ ผมก็เลยนึกไปถึง ตึกกรอส เริ่มแรกผมคิดแค่นั้นเอง ผมยังไม่ได้คิดไปถึงอาจารย์ใหญ่

พอเราเริ่มรีเสิร์ทเรื่องตึกกรอสเราถึงไปพบเรื่องของอาจารย์ใหญ่

ซึ่งผมก็รู้สึกประทับใจที่ว่า เขาบริจาคร่างกายเขาเองให้กับคนอื่น โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน

ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเสียสละจริง ๆ เขาตายไป สิ่งที่เขาให้ได้ก็คือร่างกายเขา ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปมาก

ผมก็เลยสนใจอยากจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด มาเล่า ให้คนได้รับรู้ว่า มันมีการเสียสละที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อยู่บนโลกนี้นะ”

Q: อยากให้พูดถึงหนังเรื่อง “อาจารย์ใหญ่” ให้ผู้อ่านได้รู้จัก

“อาจารย์ใหญ่คือผู้ที่บริจาคร่างกายตัวเองหลังจากที่เสียชีวิตลงให้นักเรียนแพทย์ได้ศึกษา หนังเรื่องนี้ก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึง แล้วก็สร้างตัวละครขึ้นมา ผูกเป็นเรื่องราวที่ลึกลับ ให้คนดูติดตามตัวละครแล้วค้นหา เรียกว่าเป็นหนังแนวระทึกขวัญก็ได้”

Q: ทำไมถึงอยากทำหนังระทึกขวัญ

“ถ้าพูดตามตรงนะ ผมไม่ได้ชอบหนังแนวนี้เลยนะ ผมเป็นคนที่ไม่ดูหนังแนวนี้ด้วย แต่ก็ด้วยประเด็นที่ว่าผมมีไอเดียเรื่องของอาจารย์ใหญ่ แล้วผมก็อยากนำเสนอเรื่องราวนี้ให้ผู้คนได้รับรู้ แล้วผมก็คิดว่า ด้วยประสบการณ์และความรู้ทางภาพยนตร์ที่ผมมี ผมน่าจะเอามาใช้กับงานประเภทนี้ได้ ผมก็เลยลองที่จะทำดู”

Q: เป็นคนเชื่อเรื่องผีอยู่แล้วรึเปล่า

“ผมเชื่อเรื่องวิญญาณที่วนเวียนอยู่รอบตัวมากกว่า ผมเชื่อว่ามันมี และเชื่อว่ามีบางคนเคยเจอจริง ๆ แต่ผมไม่เคยเจอ ผมเชื่อแค่นี้ มันจะเป็นผีหรือเป็นอะไรผมไม่รู้ แต่ผมเชื่อเรื่องวิญญาณ”

Q: กลัวมั้ย

“กลัวสิ (ตอบทันที) คือกลัวในที่นี้คือไม่อยากเจอ ขอไม่เจอได้มั้ย ในกองถ่ายที่เราถ่ายทำก็มีคนเจอหลายคนเจอ แต่ผมไม่เจอ ดีแล้วที่ไม่เจอ” พอผู้กำกับถูกเซ้าซี้ให้เล่าเรื่องผีของคนอื่น ๆ ในกองที่ได้ฟังมา เขาก็ยิ้มแห้ง ๆ ก่อนที่จะตอบว่า “ผมได้ยินมาว่ามีคนเจอแค่นั้นเอง ผมไม่ได้ไปลงรายละเอียดว่าเจอยังไง ด้วยความที่ผมกลัวไง เลยเลือกที่จะไม่ฟังดีกว่า ทำไม่รู้ไม่ชี้” เขาหัวเราะอร่อยหลังจากพูดจบ พร้อมชวนเปลี่ยนหัวข้อสนทนาให้ออกจากเรื่องที่ชวนขนลุก

Q: ความกลัวมาจากจินตนาการ พอทำหนังที่คาบเกี่ยวกับความกลัว จินตนาการเขามามีส่วนในการสร้างบทมากน้อยแค่ไหน

“มีส่วนนะ มันมาจากความคิดและเรื่องเล่าของคนหลาย ๆ คน บางทีการคุยกับคนโน้นคนนี้ แล้วต่างคนก็ต่างมีประสบการณ์เรื่องผี หรือประสบการณ์การดูหนังผี ทุกคนก็จะเอาความกลัว เอาจินตนาการของแต่คน มาแชร์กันอย่างละนิดละหน่อย อย่างผมจะกลัวการเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ผมกลัวว่าผมเดินไปที่ไหนซักที่แล้วผมเห็นอยู่เดียว ผมจะกลัวความรู้สึกแบบนี้มาก ผมก็จะเอามาใส่ในบท ผมคิดว่าถ้าไหมได้เจออะไรแบบนี้คงจะน่ากลัว”

Q: บทมีการเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างวิทยาศาสตร์กับสิ่งเร้นลับที่พิสูจน์ไม่ได้ นี่คือเทคนิคทำให้หนังน่าสนใจขึ้นด้วยรึเปล่า

“ผมไม่ได้ตั้งใจ แต่พอไปลงรายละเอียดแล้ว ผมก็พบว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่ แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์ ผมไม่รู้ว่านี่มันเป็นเรื่องของเทคนิครึเปล่านะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการดำน้ำไปเจอมากกว่า แล้วก็รู้สึกว่ามันเอามาเล่นได้ในเรื่อง ตอนที่ผม Research ผมก็ไปถามคนที่ผ่าอาจารย์ใหญ่ว่า Anatomy มันมีเป็นเรื่องของอวัยวะ หัวใจ ปอด ตับ

แต่ Anatomy มันไร้ชีวิต ถ้ามันจะมีชีวิตมันต้องมีวิญญาณ ผมก็เลยถามเขาว่า แล้ววิญญาณอยู่ตรงไหน ในร่างกายของคนเราเนี่ยวิญญาณอยู่ตรงไหน เขาก็หัวเราะ นึกว่าผมพูดเล่น แต่ผมถามจริง ๆ ผมอยากรู้จริง ๆ แต่ก็ไม่มีใครตอบผมได้ ผมเลยรู้สึกว่า เออเนี่ยแหละที่มันเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ก็เลยมีฉากหนึ่งในหนังที่นางเอกมันเชื่อว่ามันถูกผีหลอก แต่มันเป็นหมอ มันเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณบดีก็เลยบอกว่า เราเป็นคนในสังคมนะ คนข้างนอกคิดยังไงเรารู้ แต่ทันทีที่คุณก้าวเข้ามาในตึก ก้าวเข้ามาเป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว อย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปตั้งคำถาม เรามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็พอ ว่านี่มันคือสรีระที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา แล้วเราก็ศึกษาสิ่งเหล่านี้

เนี่ยแหละผมเลยเชื่อว่าความขัดแย้งตรงนี้มันคือเสน่ห์ ผมเชื่อว่าหมอก็คงตอบไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็คงตอบไม่ได้ว่า ทำไมมีชีวิต และวิญญาณอยู่ตรงไหน”

Q: การที่เรื่องไปอ้างอิงกับความจริง มีส่วนมากดดันการทำงานรึเปล่า

“มันก็ไม่เชิงว่ากดดันเท่าไหร่นะ เพราะว่าเรารู้เรื่องมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยสร้างเรื่องตามความจริงที่เรามีอยู่ ซึ่งก็ใช้เวลา 2-3 เดือนที่ไป Research ข้อมูลต่าง ๆ มา จากการหาหนังสือมาอ่าน จากเว็บไซต์ แต่ส่วนใหญ่มาจากการพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษามากกว่า เรื่องของกระบวนการต่าง ๆ เราก็เขียนบทให้เป็นไปตามข้อมูลที่เราได้รู้

แต่เรื่องราวของตัวละครมันก็เป็นวิธีเล่าของเรา มันก็เลยไม่กดดัน”

Q: ทำไมถึงเลือก “รัน” มารับบทเป็น “ไหม” ในเรื่องนี้

“ตอนแรกก็มีการพูดถึงหลาย ๆ คน แล้วบังเอิญไปเจอรันที่บาแรมยู แล้วก็คุยกับพี่ปรัชญา พี่เขาก็บอกว่า เออ ลองไปแคสดูก็ได้ แล้วพอแคสก็ชอบเลย เรามองเห็นศักยภาพ

แอ๊คติ้งเขา เรื่องสมาธิ เรื่องการแสดง เรื่องความตั้งใจ คิดว่าน่าจะร่วมงานกันได้ เพราะโดยพื้นฐานเขาเป็นคนมีความตั้งใจ ความต้องการเขามันน่าทำงานด้วย ไม่ได้นึกถึงเรื่องความเป็นดาราเลย”

Q: ทำงานกับ “รัน” เป็นยังไงบ้าง

“ดี รันดี ผมแฮปปี้มาก ๆ เลย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะร่วมงานกันอีก เขาเป็นคนมีความตั้งใจดีมาก ๆ แล้วการแสดงของเขาก็แสดงออกมาได้อย่างใจต้องการทุกอย่างเลย คือเป็นไหมที่เราต้องการเลย”

Q: ในเรื่องมีอาหนิง นิรุตติ์ มาแสดงเป็น “อาจารย์ประกิต” ด้วย ทำไมถึงเลือกอาหนิง

“ในบทตัวละครตัวนี้จะเป็นพระเอก เราก็จะคิดถึงพระเอกที่อายุน้อยกว่านี้ แต่วันหนึ่งมีคนพูดถึงอาหนิงขึ้นมา แล้วทุกคนก็ชอบ ก็เลยนัดอาหนิงมานั่งคุย อาหนิงก็โอเคเล่น ตัวละครของ “อาจารย์ประกิต” ก็เลยเปลี่ยนจากที่เราคิดว่าจะเป็นวัยรุ่นหน่อย

แต่พอมีอาหนิงเข้ามาผมก็รู้สึกว่าดีนะ เพราะมันก็ยิ่งทำให้หนังดูมีอะไรมากขึ้นด้วย”

Q: แล้วทำงานกับ “อาหนิง” เป็นยังไงบ้าง

“อาหนิงเขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้วครับ ผมก็ให้เขาเล่นแบบที่เป็นธรรมชาติ สบาย ๆ เลย”

Q: ได้ข่าวว่าบทเรื่องนี้เป็นบทที่เค้นอารมณ์ ไม่ค่อยมีบทสนทนา มีวิธีกำกับยังไง

“ก็เล่าให้ฟัง เล่าเรื่อง เล่าแบ็คกราวน์ เล่าที่มาที่ไปของแต่ละฉาก คือให้นักแสดงคิดว่าถ้าเป็นตัวละครจะรู้สึกยังไง แล้วให้เขาเล่นให้ดู ถ้ามากไปก็บอก น้อยไปก็บอก ส่วนมากนักแสดงเขาจะเล่นให้เต็มที่ก่อน แล้วก็ค่อย ๆ ปรับ เพราะเราจะรู้ถึงภาพรวมของอารมณ์หนังมากกว่า ก็ค่อย ๆ คุย ค่อย ๆ ปรับกัน”

Q: บรรยากาศการถ่ายทำเป็นยังไงบ้าง

“ก็ดีนะ ทุกคนก็ตั้งใจทำงานกันหมด แต่มันอยู่อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจคือ กลิ่น ด้วยความที่หนังเรามันเป็นหนังของนักเรียนแพทย์ เกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่ มันก็จำเป็นจะต้องมีการถ่ายทำที่ห้องเรียน Anatomy หรือแม้กระทั่งบ่อดองซึ่งสำหรับดองอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเราไปถ่ายกันในสถานที่จริงด้วยไง มันก็เลยมีเรื่องของกลิ่นเข้ามา มันเหมือนเวลาที่เราเข้าไปในโรงพยาบาลน่ะ มันจะมีกลิ่นยา อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องไปอยู่ท่ามกลางฟอร์มาลิน กลีเซอรีน ครั้งแรกที่เปิดประตูเข้าไปในห้องผ่าศพ พอเปิดประตู กลิ่นก็จะมาปะทะ เราก็จะรู้เลยว่านี่คือกลิ่นศพ เรารู้สึกถึงกลิ่นศพได้อย่างใกล้ชิด เมื่อเข้าไปก็จะเห็นทุกอย่างที่เป็นบรรยากาศหมด เห็นอาจารย์ใหญ่นอนอยู่บนเตียงอะไรแบบนั้น คือบรรยากาศมันให้หมดเลย เนี่ยอันนี้ผมรู้สึกว่ามันโดนสุด ๆ ความรู้สึกของกลิ่น”

Q: ฉากที่ยากที่สุดในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้

“สำหรับผมเป็นฉากที่ไหมนางเอกของเรื่องถอดคอนแทคเลนส์ มันยากตรงที่ว่า ผมแล้วก็คนในกองถ่ายมีแค่คนเดียวหรือ 2 คน ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งเราไม่รู้ขั้นตอนหรือกระบวนการ นักแสดงเองก็ไม่เคยใส่คอนแทคเลนส์ และที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ นักแสดงไม่ได้เป็นคนสายตาสั้น แล้วในเรื่องพอถอดคอนแทคเลนส์แล้วเขาจะต้องเห็นผี ซึ่งนอกจากอารมณ์กลัวแล้ว มันก็จะมีอารมณ์ของการเห็นไม่ชัด ซึ่งผมว่ามันหลายขั้นตอนกว่าจะเป็นงั้นได้ มันมีจังหวะหลายจังหวะที่มันยาก พอเริ่มเห็นชัดแล้วผีก็เริ่มเข้ามาใกล้อีก ซึ่งมันก็จะต้องมีเรื่องของการให้คิวเขา เริ่มเห็นชัดขึ้น ๆ มันจะต้องพอดีกับกล้องที่เคลื่อนเข้าไปด้วย ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องของอารมณ์อย่างเดียว มันเป็นเรื่องของจังหวะ เป็นเรื่องของเทคนิคด้วย แล้วฉากนี้ก็เป็นฉากที่ถ่ายวันแรกเลย ทุกอย่างมันยังไม่เข้าขากัน ทั้งผมกับนักแสดง กับทีมงาน ทุกอย่างมันเลยยาก ผมเลยคิดว่าฉากนี้เป็นฉากที่ยากที่สุดสำหรับเรื่องนี้”

Q: ฉากที่ประทับใจที่สุด

“คงเป็นการทำงานในโลเคชั่นบ่อดองนะ เพราะมันแคบ อากาศถ่ายเทไม่ได้ มันเป็นห้องซึ่งตัน มีพัดลมตัวเล็ก ๆ อยู่ไม่กี่ตัว แล้วทีมงานก็ไปอัดอยู่ในนั้น ทั้งไฟ ทั้งกล้อง แล้วเราต้องอยู่ในนั้น 1วัน1คืน แล้วก็อีก 1วัน1คืน ทุกคนจะร้อน สื่อสารกันลำบาก เพราะมีบางพวกที่ต้องอยู่ข้างนอก เพราะว่าเข้าไปไม่ได้ เวลาคุยกันต้องใช้วอเพราะสื่อสารกันไม่ได้ รู้สึกว่าลำบาก เราเอาอุปกรณ์เข้าไป พื้นที่ให้ยืนก็แทบจะไม่มี มันเป็นน้ำ มันก็จะมีพื้นที่ไม่เยอะ แล้วก็ฉากในนั้นก็จะมีบางส่วนที่เป็นแอ๊คชั่นด้วย มันก็ต้องการพื้นที่เยอะ ถ้ารู้สึกว่าจะจดจำความรู้สึกการทำงานได้เยอะที่สุดก็คงเป็นเรื่องในบ่อดอง แล้วก็จะมีอีกฉากหนึ่ง เป็นฉากในห้องผ่าศพ ผมไปถึงก่อนวันถ่าย ไปตรวจเซ็ตก่อน 1 วัน ปรากฏว่าทุกอย่างมันถูกเตรียมไว้พร้อม แล้วผมประทับใจมาก มันเหมือนเราหลุดไปในห้องนักเรียนแพทย์จริง ๆ อาจารย์ใหญ่นอนอยู่บนโต๊ะ 10 กว่าตัว มีผ้าคลุมอาจารย์ไว้ มีหนังสือเรียน มีพวงมาลัย บรรยากาศรอบ ๆ ได้หมดเลย คือเราไม่ได้คาดหวังไง เลยประทับใจ”

Q: มีอุปสรรคในการถ่ายทำบ้างมั้ย

“ไม่ค่อยมีอะไรนะ ผมทำได้ตามกำหนด ทุกอย่างราบรื่นดี อาจเป็นเพราะการถ่ายทำส่วนใหญ่เราจะเป็นภายในด้วย ในห้องเรียน ในบ้าน มันเลยคอนโทรลได้หมด”

Q: คิดว่าความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คืออะไร

“คือเรื่องของอาจารย์ใหญ่ ผมอยากให้คนได้มารับรู้เรื่องของอาจารย์ใหญ่ เรื่องของคนที่เสียสละร่างกายตัวเองเพื่อการศึกษา จากวันที่ผม Research มาจนถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ผมรู้สึกว่าดีจังที่มีการเสียสละแบบนี้ ผมก็เลยอยากให้คนได้มารับรู้ ส่วนในเรื่องของความสนุกตื่นเต้นในหนังมันก็จะมีการเพิ่มเรื่องของมุมมองที่มากขึ้นจากหนังแนวระทึกขวัญทั่วไป ผมคิดอย่างงั้นนะ เรื่องที่เล่ามันเป็นเรื่องลึกลับ ชวนให้ติดตามตัวละครไปตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องจนท้ายเรื่อง สิ่งที่ผมคาดหวังก็คืออยากให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ”

การพูดคุยเดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย เราให้ผู้กำกับพูดเชิญชวนให้คนมาดูหนัง เขาปล่อยเสียงหัวเราะปนเขิน พร้อมบอกว่า “ผมชวนไม่เก่งอ่ะ ต้องพูดยังไงล่ะ มันรู้สึกแปลก ๆ นะ...(นิ่งคิด) เอาเป็นว่าก็อยากให้มาดูกันละกัน” พูดจบผู้กำกับปิดท้ายด้วยรอยยิ้มกว้าง ๆ และแววตาใจดีที่มองลอดผ่านแว่นสายตา... การสนทนาเสร็จสิ้นพร้อมกับสายตาที่ทอดยาวออกไปของเขา...แม้จะพูดชักชวนเชิงขายของไม่เก่ง แต่ความมุ่งหวังที่รายทางไปข้างหน้า ก็ทำให้รู้ว่า ผู้กำกับอย่าง ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล มีความตั้งใจที่จะไปถึงฝันจริง ๆ และความตั้งใจ บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมทั้งหลายก็ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาลงมือกำกับอย่างเต็มตัวอย่าง “อาจารย์ใหญ่” ที่จะเข้าฉายในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net