กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาการเรียนการสอนในโครงการ “เงินทอง ของมีค่า” อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศกว่า 30,000 โรงเรียน ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท โดยในปี 2549 -2551 มุ่งเน้นการสร้างโรงเรียนต้นแบบ “เงินทอง ของมีค่า” ทั่วประเทศ หวังที่จะพัฒนาโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้าน การออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคลแก่เยาวชน
นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ ประธานระบบการศึกษาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “เงินทอง ของมีค่า” ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 ทั้งในรูปแบบการจัดทำหนังสือคู่มือการเรียนการสอน การจัดการอบรมศึกษานิเทศก์และครูทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการออม รวมทั้งการจัดการแข่งขันตอบปัญหาทางการเงิน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานใน 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546-2548) กว่า 50 ล้านบาท และ
คาดว่าในปี 2549 จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในกิจกรรมโครงการ และจัดการอบรมครูเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 30,000 โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง อีก 30 ล้านบาท
โดยในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันจัดโครงการโรงเรียนต้นแบบ “เงินทอง ของมีค่า” เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ“เงินทอง ของมีค่า” มุ่งดำเนินการพัฒนาให้เป็นเครือข่ายโรงเรียน ที่จะเป็นต้นแบบในด้านการจัดการการเรียนรู้ในหลักสูตร “เงินทอง ของมีค่า” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับครู นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองอย่างครบวงจร รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้จัดทำกิจกรรมต่างๆ ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบ ให้โรงเรียนรอบข้างในชุมชนได้เข้ามาศึกษาและนำไปพัฒนาต่อยอดออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการโรงเรียนต้นแบบ “เงินทอง ของมีค่า” มีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2549 –2551) จะดำเนินการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด จังหวัดละ 2 โรงเรียน คือ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาระดับละ 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 152 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยในปีนี้ได้ทำการคัดเลือกจังหวัดนำร่องในการดำเนินการจำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ เชียงใหม่ ลำพูน ภูเก็ต สงขลา และสุราษฏร์ธานี รวมทั้งสิ้น 45 โรงเรียน
โดยโรงเรียนในโครงการดังกล่าวจะได้รับการอบรมความรู้ด้านการออมและการบริหารการเงินส่วนบุคคล ในหลักสูตร “เงินทองต้องใส่ใจ” หลักสูตร “เงินทอง ของมีค่า” และหลักสูตร “นักธุรกิจรุ่นเยาว์ “ รวมทั้งยังได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หัวข้อ “การจัดทำแผนการสอน” เพื่อให้สามารถนำความรู้ ที่ได้รับไปบูรณาการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อย่างแท้จริง”
นายพันธ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้มอบมุมความรู้ตลาดทุน (SET Corner) ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนต้นแบบ “เงินทอง ของมีค่า” ซึ่งใน SET Corner นี้จะรวบรวมตำราวิชาการ หนังสือสาระความรู้ด้านการออม การบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับเด็กรวมทั้งสิ้นกว่า
100 เล่ม และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นการให้ความรู้แก่เยาวชนไว้ที่ห้องสมุดของโรงเรียนต้นแบบอีกด้วย”
ด้านนางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอบว่า “สพฐ. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการ เพื่อผลักดันให้โครงการประสบผลสำเร็จสูงสุด และเป็นการสร้างเครื่องมือให้โรงเรียนสามารถที่จะพัฒนาความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลและนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในโรงเรียนได้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งเสริมและกระตุ้นให้ ผู้ปกครอง รวมทั้ง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการ และร่วมเป็นเครือข่ายช่วยสอนลูกหลานให้เด็กๆ
มีทักษะชีวิตที่จำเป็นได้ และเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ”
รายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมการให้ความรู้ภายใต้โครงการ “เงินทอง ของมีค่า” สามารถติดตาม
ข้อมูลได้จากทาง Newsletter “กระปุกข่าว” ซึ่งจัดส่งให้โรงเรียนในโครงการ “เงินทอง ของมีค่า” ทุก
โรงเรียน และ
ทางเว็บไซต์ http://www.tsi-thailand.org ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ใน โครงการดังกล่าวนี้ด้วย
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 – 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 – 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 – 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797