นายก ส.ผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ร้องหลังถูกกลุ่มเอฟต้า บี้/รุกหนักให้ไทยลดภาษีสินค้าประมงทุกรายการ

09 Jan 2006

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย

นายก ส.ผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ร้องหลังถูกกลุ่มเอฟต้า บี้/รุกหนักให้ไทยลดภาษีสินค้าประมงทุกรายการ เพราะหวังส่งปลาเข้าไทยเสรี วอนเอฟต้าเห็นใจ ภาษี 5% ต่ำมากอยู่แล้ว อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือน ปี 43 ที่ซาบะจากนอรเวย์ทะลักเข้าไทย ผู้เลี้ยงปลาเสียหายหนัก เกือบสูญอาชีพ

นายศักดิ์ สรรพานิช นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงไทย เปิดเผย ถึงสถานการณ์การเพาะเลี้ยงปลาไทยว่า ขณะนี้พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากำลังตกอยู่ในภาวะที่น่าห่วง เนื่องจากกำลังถูกกลุ่มเอฟต้า (EFTA –European Free Trade Association) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ปท. คือ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ พยายามอย่างหนักให้ไทยลดภาษีสินค้าประมงทุกรายการ โดยเฉพาะสินค้าปลา เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้ มีศักยภาพสูงมาก เช่น นอรเวย์ และไอซ์แลนด์ เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์มากที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก จึงหวังที่จะส่งปลาเข้าไทยอย่างเสรี วอนเอฟต้าเห็นใจ อย่าพยายามหรือรุกหนักให้ไทยต้องลดภาษีสินค้าประมงลงเหลือศูนย์ในทุกรายการเลยเพราะอัตราภาษีที่ร้อยละ 5 ซึ่งไทยเก็บอยู่ปัจจุบันต่ำมากๆอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาในการเจรจา FTA ทุกกรอบ ทางสมาคมเข้าใจถึงความจำเป็นต้องเปิดเสรีทางการค้า แต่เนื่องจากยังไม่พร้อม จึงยืนยันมาโดยตลอดให้จัดสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ ที่เป็นปลาพื้นฐานของคนไทยเป็นสินค้าอ่อนไหว (ยกเว้นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก) ให้ได้รับการดูแลพิเศษจากรัฐ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คน เกษตรกรผู้เลี้ยง และต่อเนื่อง จำนวนมากกว่า 2 ล้านคน ที่ปัจจุบันยังไม่พร้อมเปิดเสรี ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อพัฒนา ได้รับการส่งเสริมด้านต่างๆจากภาครัฐ เราขอให้คงภาษีที่ร้อยละ 5 ซึ่งต่ำมากอยู่แล้วให้นานที่สุด อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ จากนั้นค่อยเริ่มทยอยลดภาษี เพราะหลายประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น-สินค้าข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง เขายกออกไม่นำมาเจรจา และไก่ให้ทยอยลดภาษี ซึ่งก็ทำได้ ส่วนมาตรการแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถแข่งขันได้ สมาคมก็เสนอให้ภาครัฐมาโดยตลอด ล่าสุดได้ทำหนังสือเสนอไปที่ พณฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แต่ตอนนี้ทราบว่าเรากำลังถูกกลุ่มประเทศเอฟต้า รุกหนักพยายามให้เปิดเสรีสินค้าประมง สินค้าปลาของเรา ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก โดยเฉพาะประเทศ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆของโลก หากเปิดเสรี ส่งปลาทะลักเข้ามาเหมือนปี 2543 เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาตายแน่ครับ อาชีพสูญแน่ จึงขอให้กลุ่มประเทศ EFTA ได้โปรดเห็นใจอย่าพยายามมาเรียกร้องให้ไทยลดภาษีสินค้าประมงให้เป็นศูนย์ในทุกรายการเลย ขอสินค้าปลา 8 พิกัด เป็นสินค้าที่อ่อนไหวด้วย” นายศักดิ์ กล่าว

“ปี 2543 ราคาปลาตกต่ำ มีสาเหตุสำคัญคือ ปลาซาบะ หรือแมคเคอเรล (คนละตัวกับที่นำเข้ามาแปรรูปทำปลากระป๋อง) ชื่อญี่ปุ่นแต่ส่วนใหญ่มาจากนอร์เวย์ ทะลักเข้าไทย มีจำหน่ายทั่วไปบนแผงปลาในตลาดสดทั่วประเทศ ราคาถูกมากอย่างไม่น่าเชื่อ เข้าไปทดแทนปลาไทย โดยเข้ามาอย่างเสรี ทั้งที่เรียกเก็บภาษีได้ที่ร้อยละ 5 แต่ขณะนั้นไม่มีการจัดเก็บ พวกผมสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ได้พยายามเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดมีการจัดเก็บที่อัตราเดิมคือร้อยละ 5 ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ทันทีที่บังคับใช้ปลาซาบะหายไปจากตลาดสด หายไปจากแผงปลา ทำให้ราคาปลาในประเทศดีขึ้นตามลำดับ ขนาดเข้ามาตัวเดียว เกือบแย่ ถ้าเข้ามาหลายชนิด ผมว่าอาชีพการเลี้ยงปลาของเราสูญแน่ครับ เรื่องนี้สมาคมฯ กำลังดำเนินการจัดส่งหนังสือไปถึงเอคอัคราชทูตของประเทศในกลุ่ม EFTA ประจำประเทศไทย และขอเข้าพบเพื่อขอหารือและขอให้เห็นใจเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาไทยครับ ” นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย กล่าวทิ้งท้าย

รายการสินค้าปลาและผลิตภัณฑ์ที่สมาคมฯ ขอให้เป็นสินค้าอ่อนไหว รวม 8 พิกัด คือ พิกัดปลาอื่นๆ (ปลาพื้นฐานที่ผลิตได้ในประเทศ - 0302.69 , 0303.79, 0304.10, 0304.20, 0304.90, 0305.599) และ พิกัดปลาซาบะ 0302.64 และ 0303.74 ส่วนสินค้าปลาที่นำเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออกพิกัด 0303.41, 0303.42, 0303.43, 0303.49 และ 0303.71 หากจำเป็น สามารถปรับลดภาษีได้ทันที หลังความตกลงมีผลบังคับใช้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

นายศักดิ์ สรรพานิช (Sak Sunpanich)

นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย

(President of Thai Fish Culture Farmers Association)

โทร. 05-8045322--จบ--