กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีที่มีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นปริมาณสูงผิดปกติเกินความต้องการใช้ กับทั้งมีการทยอยขายน้ำมันดิบส่งออกเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มเก็งกำไรน้ำมันในปริมาณสูงมากนั้น
กลุ่มโรงกลั่นฯ ขอเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) หรือ 10 เดือน (ธ.ค.47-ก.ย.48) ตามข่าว ในปี 2547 กับปี 2548 จะมีปริมาณใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ประมาณ 850,000 บาร์เรลต่อวัน แต่มูลค่าที่สูงขึ้นมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบซึ่งเราทราบกันดีว่าในปี 2548 ราคาขยับสูงขึ้นกว่าราคาในปี 2547 ถึงกว่า 40% โดยในปี 2547 น้ำมันดิบดูไบจะมีราคาที่เฉลี่ยประมาณ 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในปี 2548 ราคาน้ำมันดูไบขยับขึ้นถึงเฉลี่ยประมาณ 48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดความแตกต่างของราคาที่ 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยการนำเข้าน้ำมันดิบที่ 850,000 บาร์เรลต่อวัน ก็จะได้มูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงขอเรียนชี้แจงว่ามูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจริงตามข่าว แต่เป็นผลของราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ไม่ใช่สาเหตุมาจากการนำเข้าที่มีปริมาณมากขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด
อนึ่ง การนำเข้าน้ำมันดิบมีข้อจำกัดหลายประการด้วยกัน เช่น ปริมาตรของถังเก็บ เมื่อนำเข้ามาต้องมีถังเก็บ ซึ่งถังน้ำมันดิบจะมีขนาดใหญ่ การลงทุนสูงมาก คงไม่สามารถสร้างขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อประโยชน์การกักตุนเพราะโดยทั่วไปการออกแบบไว้ให้เพียงพอกับการใช้งานเท่านั้นเนื่องจากเงินลงทุนและสถานที่จะเป็นข้อจำกัด
สำหรับข่าวที่ว่ามีการทยอยขายน้ำมันดิบส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเก็งกำไรน้ำมันเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทนั้น กลุ่มโรงกลั่นฯ ขอเรียนชี้แจงว่า โรงกลั่นในประเทศทุกโรงจะมีอุปกรณ์ท่อและถังในการรับน้ำมันดิบ แต่เมื่อรับแล้วโดยทั่วไปจะไม่สามารถปั๊มลงเรือเพื่อการส่งออกได้อีก เพราะการออกแบบโรงกลั่นจะให้เป็นสถานที่กลั่นน้ำมันดิบที่นำเข้ามาเท่านั้น ไม่มีการเก็บและส่งออกเพื่อการเก็งกำไรแต่อย่างใด
ประธานกลุ่มโรงกลั่นฯ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศ เช่น จาก อ่าวไทยของเรา สามารถทำการส่งออกได้ ซึ่งการส่งออกนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นในประเทศ--จบ--