กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน ยืนยันไม่พบการนำเข้าส่งออกน้ำมันผิดปกติ แต่ข้อเท็จจริงการนำเข้าน้ำมันดิบ 10 เดือนที่ผ่านมาลดลงถึง 1.1% แต่เพราะวิกฤตราคาน้ำมันเป็นสาเหตุสำคัญให้มูลค่าการเข้าน้ำมันสูงขึ้น
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การตรวจสอบการนำเข้าน้ำมันดิบ 10 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – ตุลาคม 2548) ไม่พบการกักตุนเพื่อเก็งกำไรและยังพบว่าลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 40,680 ล้านลิตร จากเดิมอยู่ที่ระดับ 41,294 ล้านลิตร แต่ มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากวิกฤตราคาน้ำมันตลาดโลก นอกจากนี้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบยังต่ำกว่าข้อตกลงการนำเข้าน้ำมันดิบที่กระทรวงพลังงานได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 845 ล้านลิตรต่อวัน จากข้อตกลงเฉลี่ยที่ระดับ 865 ล้านลิตรต่อวัน
ทั้งนี้ ข้อสงสัยเรื่องการกักตุนน้ำมันหรือเก็งกำไรเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2548 เนื่องจากขณะนั้นพบการขาดดุลการค้ามาจากการนำเข้าน้ำมันที่มีมูลค่าสูงขึ้น และจากการศึกษาข้อเท็จจริงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานพบว่าสาเหตุเกิดจากราคานำเข้าน้ำมันดิบสูงถึง 41.7% จากราคาเดิม ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นถึง 39.4% เช่นเดียวกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่ม 47.6% ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น 63.3% ส่วนมูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นก็เพราะราคาตลาดโลกสูงขึ้นเช่นกัน โดยในด้านปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ประเด็นการนำเข้าเพื่อกักตุนได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มี โดยดูจากปริมาณนำเข้าในช่วง 10 เดือน ซึ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันตามปกติและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นความกังวลจะเกิดการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรจึงไม่น่าเป็นจริง เพราะถ้ามีจะต้องพบการนำเข้า เพิ่มขึ้นผิดปกติและมีการส่งออกผิดปกติด้วย แต่ปริมาณการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาตามสถิติของทางราชการยอดส่งออกไม่ได้สูงขึ้นอย่างผิดปกติแต่อย่างใด
นายเมตตา กล่าวว่า “เรื่องนี้น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะสังเกตจากข้อมูลในข่าวเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นหน่วยล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นดังที่ได้ชี้แจง แต่ถ้าดูตัวเลขสถิติการนำเข้าน้ำมันและส่งออกเป็นหน่วยล้านลิตรจะเห็นได้ชัดว่าไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด”--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit